ลุ้น “ไฮสปีดเทรน” 3 สนามบิน ตอกเข็มมี.ค.นี้ หลังส่งมอบที่ดินครบ100%
ร.ฟ.ท.ลุยเจรจา “ซีพี” เร่งแก้สัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ลุ้นความเห็นกระทรวงการคลังเคาะโมเดล ผ่อนจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ก.พ.นี้ ยันส่งมอบพื้นที่เฟสแรกช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาแล้วเสร็จ100% ภายใน มี.ค.นี้
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเทรน ที่เป็นโปรเจคสำคัญที่ "เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์" หมายมั่นปั้นมือเป็นโครงการสำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
กลุ่มซีพี ดำเนินโครงการผ่าน บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้สิทธิลงทุนและบริหาร 50 ปี หลังที่ กิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ชนะการประมูลและลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562
ภายหลังการลงนามมา 2 ปี เศษ การดำเนินงานยังอยู่ในขั้นตอนการส่งมอบพื้นที่ให้กับกลุ่มซีพี โดยความคืบหน้าส่งมอบพื้นที่ ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.พร้อมส่งมอบพื้นที่รวม 98% ส่วนพื้นที่ที่เหลือ 2% จะดำเนินการส่งมอบเสร็จในเดือน มี.ค.2565 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยืนยันก่อนหน้านี้ว่า จะรับมอบพื้นที่เมื่อ ร.ฟ.ท.พร้อมส่งมอบ 100%
ใขณะที่การรับมอบสิทธิบริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของรถไฟความเร็วสูงได้กำหนดให้กลุ่มซีพีต้องชำระสิทธิบริหาร 10,671 ล้านบาท ภายใน 2 ปี ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 24 ต.ค.2564 แต่กลุ่มซีพีได้ยื่นขอ เยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งต่อจำนวนผู้โดยสาร และคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 ต.ค.2565 เห็นชอบให้แก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเพื่อปรับรูปแบบการชำระค่าสิทธิบริหารจากงวดเดียวเป็นการผ่อนจ่าย
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ซีพีแจ้งว่าโควิด-19 ทำให้ปริมาณผู้โดยสารลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญราว 70-80% จากที่เคยคาดการณ์ไว้จึงทำให้มีการขอเยียวยาจากภาครัฐ เพราะการชำระก้อนเดียว 10,671 ล้านบาท จะเป็นความเสี่ยงต่อการขาดทุน และมีการเสนอขอผ่อนจ่ายเป็น 10 งวด รวม 10 ปี พร้อมอัตราดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น
การดำเนินการดังกล่าวต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่ สกพอ.และ ร.ฟ.ท.หารือกับเอกชนเพื่อสรุปรายละเอียดร่างสัญญาส่วนที่แก้ไข
ทั้งนี้ การแก้ไขสัญญายังไม่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับระยะเวลาผ่อนจ่ายเพราะที่เอกชนเสนอ 10 งวด 10 ปี ที่ประชุมเห็นว่านานเกินไป และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงินที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ จึงจำเป็นต้องขอความเห็นไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา อาทิ สำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และกระทรวงการคลัง ซึ่งเรื่องนี้ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และจะมีการหารืออีกครั้งภายในเดือน ก.พ.นี้
“ข้อเสนอเอกชนขอผ่อน 10 ปี คงไม่ได้ เพราะที่ประชุมเห็นว่า เป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป และที่บอกว่า จะจ่ายเมื่อโควิดคลี่คลาย ที่ประชุมก็เห็นพร้อมกันว่าสถานการณ์โควิดไม่มีความชัดเจนว่าจะยุติเมื่อใด หรือไม่มีแนวโน้มยุติ ดังนั้นจะต้องหาโมเดลที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ส่วนกรณีที่การถไฟฯ ศึกษาว่าจะผ่อนจ่ายในระยะเวลา 6 งวด รวม 6 ปี เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้แนวทางนี้หรือไม่ จะเหมาะสมหรือไม่ ดังนั้นคงต้องรอฟังความเห็นจากหน่วยงานกระทรวงการคลัง”
สำหรับการข้อเสนอของ ร.ฟ.ท.ในระยะเวลาผ่อนจ่าย 6 งวด รวม 6 ปีนั้น ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาไว้ เป็นการชำระค่าสิทธิร่วมทุนพร้อมดอกเบี้ยและมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) อยู่ที่ 11,705.463 ล้านบาท เพิ่มจากวงเงินเดิม 10,671.090 ล้านบาท ประมาณ 1,034.373 ล้านบาท โดยแบ่งชำระออกเป็น 6 งวด รวม 6 ปี กำหนดในปีแรกจ่ายในสัดส่วน 5% ปีที่ 2 จ่าย 7% ปีที่ 3 จ่าย 10% ปีที่ 4 จ่าย 10% ปีที่ 5 จ่าย 10% และปีที่ 6 จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมดประมาณ 67.7%
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ออกมาระบุก่อนหน้านี้ถึงความคืบหน้าร่างแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่การเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ ทั้งยังมีขั้นตอนดำเนินการที่เกี่ยวกับระเบียบและข้อกฎหมาย ต้องนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาร่างแก้ไขสัญญาทั้งอัยการสูงสุด และ ครม.จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขยายบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการเจรจาร่างแก้ไขสัญญาที่ ร.ฟ.ท.ทำร่วมกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ไปจนถึงวันที่ 24 เม.ย.2565
แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า การขยายเวลาชำระค่าให้สิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 10,671 ล้านบาท ตามที่เอกชนเสนอแบ่งจ่ายเป็น 10 งวด รวม 10 ปี ที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย เห็นว่าเป็นระยะเวลาที่นานเกินไป และยังคาดการณ์ไม่ได้ว่า สถานการณ์โควิดจะคลี่คลายเมื่อไหร่ ยังมีอีกหนึ่งข้อเสนอของเอกชนต้องการแบ่งชำระปีละ 10% เป็น 10 งวด หรือ 1,067.11 ล้านบาท จ่ายแบบนี้ ปีต่อปีไปก่อน และหากโควิด-19 ยุติลงเอกชน จะชำระส่วนที่เหลือบวกดอกเบี้ย เรื่องนี้ต้องขอความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณากำหนดนิยามโควิด-19 ยุติลง จะมีเงื่อนไขพิจารณาอย่างไร เพื่อนำมากำหนดในเงื่อนไขร่างแก้ไขสัญญา
ขณะที่ ความคืบหน้าส่งมอบพื้นที่ตามแผนที่ต้องส่งมอบช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร (กม.) 5,521 ไร่ ปัจจุบันภาครัฐดำเนินการส่งมอบพื้นที่อยู่ที่ 98% เหลือส่งมอบพื้นที่ราว 2% ให้เอกชนคู่สัญญา ยังติดปัญหาเวนคืนที่ดิน จากกรณีที่มีผู้บุกรุกบางส่วนติดจำนองที่ดินไว้กับสถาบันการเงิน 3-4 สัญญา จาก 100 สัญญาจะครบกำหนดให้ ร.ฟ.ท.ครอบครองสิทธิที่ดินได้ตามกฎหมายวันที่ 9 ก.พ.นี้
“พื้นที่ส่งมอบส่วนแรกสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา การรถไฟฯ มั่นใจว่าจะส่งมอบ 100% ตามกรอบเดือน มี.ค.นี้ เพราะเหลือพื้นที่เพียง 2% ที่ติดปัญหาทางกฎหมาย" แหล่งข่าว กล่าว
ส่วนความคืบหน้าส่งมอบพื้นที่บางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 10 กม. ขณะนี้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด รับเงื่อนไขในการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนช่วงดังกล่าวเพื่อให้รถไฟไทย-จีน สามารถเปิดเดินรถตามกรอบกำหนด แต่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจารายละเอียดการจ่ายเงินค่าก่อสร้าง
ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เอกชนจะต้องดำเนินก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จ โดย ร.ฟ.ท.จะเริ่มชำระคืนค่าก่อสร้างในปีที่ 6 (นับจากเข้าพื้นที่ก่อสร้าง) ในอัตราคงที่ เป็นระยะเวลา 10 ปี มีอัตราดอกเบี้ย 2.375%
แหล่งข่าว ระบุด้วยว่า งานก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนบางซื่อ-ดอนเมือง ขณะนี้ ร.ฟ.ท.หารือกับเอกชนเพื่อเร่งเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้างให้เร็วกว่าแผน ซึ่งปัจจุบันเอกชนเตรียมเข้าพื้นที่ก่อสร้างเดือน มี.ค.นี้ เร็วกว่าสัญญาเดิมที่กำหนดไว้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่จะส่งมอบพื้นที่ส่วนนี้ให้เอกชนภายในเดือน ต.ค.2566
ส่วนบางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 12 กม. ตามแผนส่งมอบในระยะถัดไป ร.ฟ.ท.วางแผนส่งมอบภายในปี 2566 เพราะเป็นพื้นที่ที่มีระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ขวางแนวเส้นทาง 2 จุด คือ 1.คลองไซฟอนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) บริเวณสามเสน และ 2.ท่อน้ำมันของบริษัทขนส่งน้ำมันทางท่อ (FPT) ซึ่งทั้งสองหน่วยได้ทำเรื่องของบกลางประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อดำเนินการรื้อย้าย