“ไมโล” ชิงตลาดนมถั่วเหลือง ปั้นสินค้าใหม่ เขย่าตลาด 13,500 ล.
เนสท์เล่ ทุ่ม 150 ล้านบาท เปิดตัวสินค้าใหม่แห่งแรกในโลก “ไมโล นมถั่วเหลือง” ย้ำไทยตลาดเชิงยุทธศาสตร์ เดินหน้าท้าชน “แลคตาซอย-ไวตามิ้ลค์” ขานรับตลาดใหญ่ 1 ใน 3 ตลาดนมพร้อมดื่ม 44,000 ล้านบาท
นายไชยงค์ สกุลบริรักษ์ ผู้อำนวยการบริหารธุรกิจผลิตภัณฑ์นมและโภชนาการ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ไมโล ทำตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มช็อกโกแลตมอลต์ในตลาดประเทศไทยยาวนาน 69 ปี และเป็นผู้เล่นที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดราว 1 ใน 3 จากตลาดรวมมูลค่าราว 4,500 ล้านบาท ปีที่ผ่านตลาดได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้โรงเรียนปิดเทอม ผู้คนเดินทางน้อยลง ส่งผลให้ตลาดหดตัว 2%
นอกจากนี้ ไมโลในประเทศไทยถือเป็นตลาดเชิงยุทธศาสตร์ และตลาดมีศักยภาพลำดับต้นๆของภูมิภาคเอเชีย รวมถึงทั่วโลก เมื่อบริษัทเกาะติดเทรนด์ผู้บริโภคและตลาดพบกระแสเครื่องดื่มทางเลือกจากพืชหรือ Plant-based Beverage มาแรง จึงขอลุยพัฒนาสินค้าใหม่ “ไมโล นมถั่วเหลือง” ออกสู่ตลาดไทยเป็นแห่งแรกของโลก
ทั้งนี้ บริษัทใช้งบประมาณ 150 ล้านบาท เพื่อวิจัยและพัฒนาสินค้าราว 2 ปี ผสานนมถั่วเหลืองและมอลต์สกัดจากข้าวบาร์เล่ย์เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ที่ยังคงเน้นกลุ่มเด็กอายุ 6-12 ปี ฐานลูกค้าหลักของไมโล
พร้อมกันนี้ งบดังกล่าวยังใช้เพื่อทำแคมเปญสื่อสารการตลาด สร้างการรับรู้แบรนด์ รวมถึงดึง “สุวนันท์-ณดา-ณดล ปุณณกันต์” เป็นพรีเซ็นเตอร์ และการแจกสินค้าตัวอย่าง 3.5 แสนกล่องทั่วประเทศให้ผู้บริโภคได้ทดลอง การใช้สื่อโฆษณานอกบ้านกว่า 250 จุด และสื่อโฆษณาในร้านค้าที่จำหน่ายไมโลนมถั่วเหลือง รวมถึงโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ ใช้อินฟลูเอนเซอร์ช่วยเป็นกระบอกเสียง
“ไมโลในไทยยกมือขอลุยตลาดนมถั่วเหลืองเอง เนื่องจากเห็นโอกาสทางการตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีศักยภาพ โดยผู้บริโภคชาวไทยยอมรับและนิยมดื่มนมถั่วเหลืองมานาน ประกอบกับกระแสบริโภคแพลนท์เบสถูกมองว่ามีคุณประโยชน์ระยะยาว ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราจึงสร้างสรรค์สินค้านวัตกรรมเพื่อตอบเทรนด์ เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค”
สำหรับตลาดผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มมีมูลค่า 44,000 ล้านบาท ปี 2564 หดตัว 7.5% เพราะผลกระทบจากโควิด หากเทียบก่อนเกิดโรคระบาดตลาดมีการเติบโตต่อเนื่อง เพราะเป็นสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการมีผลต่อสุขภาพและเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพของผู้บริโภค
นอกจากนี้ เมื่อแบ่งหมวดนมพร้อมดื่มสัดส่วนใหญ่สุดราว 50% คือนมยูเอชที(พาสเจอร์ไรซ์และสเตอริไลซ์) ตามด้วยนมถั่วเหลือง 30% หรือกว่า 13,500 ล้านบาท ช็อกโกแลตมอลต์ 15% อื่นๆ 5%
ปัจจุบันนมถั่วเหลืองมีผู้นำตลาดอย่างแลคตาซอย ไวตามิ้ลค์และดีน่า เป็นผู้เล่นรายใหญ่และมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด แต่ยังมีแบรนด์อื่นที่เข้าแข่งขันไม่ว่าจะเป็น วี-ซอย ดอยคำ โทฟุซัง ฯ แต่ละแบรนด์มีจุดขายต่างกัน ผู้นำตลาดเน้นกลยุทธ์ราคาพร้อมปริมาณสินค้า เช่น ขนาด 300 มิลลิลิตร(มล.)ราคา 10 บาท ขณะที่ไมโล นมถั่วเหลืองขนาด 180 มิลลิลิตร จำหน่ายราคา 13 บาท
“การเน้นจุดต่างด้วยการผสานนมถั่วเหลืองและมอลต์สกัดจากข้าวบาร์เล่ย์จะทำให้เราแข่งขันได้ ส่วนเป้าหมายการรุกตลาดครั้งนี้ บริษัทมองเป้าหมายขั้นต้นมีส่วนแบ่งตลาดติด 1 ใน 5 และขยับเป็น 1 ใน 3 แล้วมองโอกาสต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดนมพร้อมดื่มที่หดตัวจากโรคระบาด แต่แนวโน้มปี 2565 บริษัทคาดหวังเห็นตลาดฟื้นตัวโตเหมือนกับหมวดธุรกิจอื่นๆ โดยปัจจัยสำคัญมาจากโควิดคลี่คลาย ผู้คนเดินทาง โรงเรียนเปิดปกติจะข่วยเพิ่มทราฟฟิกและบริโภคสินค้าหนุนตลาดคึกคักอีกครั้ง