ทุนญี่ปุ่นทรานส์ฟอร์มบีซีจี ขอชัดนโยบาย - นิเวศ - ข้อมูล

ทุนญี่ปุ่นทรานส์ฟอร์มบีซีจี ขอชัดนโยบาย - นิเวศ - ข้อมูล

สกพอ.- เจโทร กรุงเทพฯ สานความร่วมมือบันทึกข้อตกลงฉบับแก้ไข สอดคล้องนโยบายใหม่เศรษฐกิจบีซีจี จัดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “แนวทางความร่วมมืออย่างยั่งยืนระหว่างไทย - ญี่ปุ่น เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน” มีผู้เข้าฟังกว่า 700 คน สู่การจับคู่ธุรกิจ ปลายเดือนก.พ.

หลังการเยือนไทยของฮากิอุดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2565 สองฝ่ายได้ลงนามแสดงเจตจำนงระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร-กรุงเทพฯ) เพื่อขยายความร่วมมือ และสนับสนุนให้มีการร่วมสร้างสรรค์ (co-creation) ระหว่างภาคเอกชนไทยกับญี่ปุ่น เพื่อนำไปสู่การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 

โดยเฉพาะด้านการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานในเศรษฐกิจสีเขียว นำไปสู่การจัดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “แนวทางความร่วมมืออย่างยั่งยืนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน” ซึ่งมีผู้เข้าฟังกว่า 700 คน  

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ไทยและญี่ปุ่นได้ร่วมมือภายใต้กรอบนโยบาย Connected Industry ผ่านการสนับสนุนธุรกิจอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในประเทศไทยให้ก้าวสู่ โรงงานอุตสาหกรรม 4.0 จนถึงปัจจุบันเชื่อว่าทั้งบริษัทไทย และญี่ปุ่นได้ยกระดับระบบการผลิตเป็นแบบออโตเมชันและดิจิทัลมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ อีอีซี ร่วมผลักดันให้เกิดความร่วมมือ ออโตเมชัน พาร์ค 3 แห่งในพื้นที่ ได้แก่ 

1. ศูนย์ลูมาดา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย บริษัท ฮิตาชิ จำกัด ตั้งศูนย์แรกนอกประเทศญี่ปุ่น ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี 

2. ลีนออโตเมชัน ซิสเต็ม อินทิเกรเตอร์ (LASI) โดยบริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย ตั้งอยู่ภายในสถาบัน SIMTec

3. อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค โดยความร่วมมือกับ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยบูรพา

“ในขณะนี้ การปรับโครงสร้างภาคการผลิตเป็นระบบออโตเมชัน และ IoT ได้กลายเป็นเรื่องปกติของธุรกิจในพื้นที่อีอีซี จากการที่สัญญาณ 5จี ครอบคลุมพื้นที่ 100% ทำให้สภาวะแวดล้อมการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลและโรงงานอุตสาหกรรม 4.0 เป็นไปได้ในทันที”

การสัมมนาในครั้งนี้ มุ่งชูประเด็นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาด ตามที่ประเทศญี่ปุ่นได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 ภายใต้โรดแมพที่ครอบคลุม 14 อุตสาหกรรมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ พลังงานและการขนส่ง การผลิตสินค้าและบริการ อสังหาริมทรัพย์ บ้าน และที่ทำงาน ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้ตั้งหมุดหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 ทำให้พื้นที่อีอีซีซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและศูนย์กลางในการพัฒนา ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Growth Center)

ทั้งนี้ สกพอ. ได้วางเป้าหมายเศรษฐกิจบีซีจีในพื้นที่ อีอีซี ไว้ 3 เรื่อง ได้แก่

1.ให้มีการลดก๊าซเรือนกระจก 10% ใน 5 ปีข้างหน้า โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การกำจัดของเสียทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม รวมทั้งเตรียมการลงทุนด้านเศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน

2.ให้มีการใช้พลังงานสะอาด 30% ใน 8 ปีข้างหน้า โดยการทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อตั้งระบบการส่ง-รับพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดสู่โรงงานอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ

3. ให้อีอีซีจัดตั้งศูนย์ธุรกิจและเมืองอัจฉริยะ หรือตั้งเป้าหมายเป็นเมือง Carbon Neutrality พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะยกระดับเมืองให้มีความทันสมัยและรับผิดชอบต่อโลก

อัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้จะนำไปสู่การจัดกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ 45 บริษัทช่วงปลายเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการต่อยอดภายใต้กรอบความริเริ่มที่สำคัญของญี่ปุ่น 2 ประการ ได้แก่ “Asia-Japan Investing for the Future” หรือ AJIF เพื่อส่งเสริมการลงทุนสำหรับอนาคตในเอเชีย และ “Asia Energy Transition Initiative” หรือ AETI การให้เงินทุนสนับสนุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

“โดยความร่วมมือดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในประเทศไทยและบริษัทไทยเองให้กลายเป็นฮับของซัพพลายเชนระดับโลก ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการกำหนดทิศทางอนาคตการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน”

อย่างไรก็ตาม แค่เพียงนโยบายของทั้งสองประเทศไม่อาจทำให้เกิดการเติบโตตาม Green Growth Strategy ได้ถ้าขาดกิจกรรมของภาคเอกชน จึงหวังว่าการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นในการสร้างสรรค์ธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไป ทุนญี่ปุ่นทรานส์ฟอร์มบีซีจี ขอชัดนโยบาย - นิเวศ - ข้อมูล

ทาเคโอะ คาโตะ รองประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCC) และประธานคณะกรรมการธุรกิจบีซีจี กล่าวว่า คณะกรรมการธุรกิจบีซีจี ได้จัดตั้งเมื่อเดือนต.ค.2564 เพื่อสร้างความร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทยและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่รัฐบาลไทยในการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี รวมทั้งเป็นเครือข่ายข้อมูลข่าวสารที่สำคัญสำหรับสมาชิก

ทั้งนี้ โมเดลบีซีจีเป็นโอกาสสำคัญของไทยในการสร้างธุรกิจใหม่และการพัฒนาธุรกิจเดิมให้ เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเจซีซีมีข้อเสนอ 3 ประเด็น ในการผลักดันโมเดลดังกล่าว ดังนี้ 1. การกำหนดกรอบนโยบายให้มีความชัดเจน 2.การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ อาทิ กฎหมายที่เกี่ยวกับการรีไซเคิล รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่สำคัญ 3.การสร้างเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการจับคู่ทางธุรกิจ

“โดยจากผลการสำรวจบริษัทญี่ปุ่นในไทยพบว่าพวกเขามีความคาดหวังและสนใจในการพัฒนาสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงโมเดลบีซีจี อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาคอขวดที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อสนับสนุนให้เกิดธุรกิจบีซีจี อาทิ การขยายขอบเขตแรงจูงใจให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เรื่องมาตรการส่งเสริมลงทุนอย่างทั่วถึง”

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์