ต้นทุนการเงิน “ทีเอฟเอฟ” ดัน กทพ.เร่งสรุปด่วนเกษตร
กทพ.เดินหน้าทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N2 เกษตรนวมินทร์เชื่อมวงแหวนรอบนอก วงเงินกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท คาด สศช.ไฟเขียวภายใน พ.ค.นี้ ก่อนดันเข้าคณะรัฐมนตรี เผยปรับแผนพร้อมประมูลไม่พ่วงฐานรากรถไฟฟ้า หลังหารือส่อติดปัญหาเบิกจ่ายเงินชดเชย
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Future Fund หรือ TFFIF เป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ได้จดทะเบียนทรัพย์สินเริ่มแรกของกองทุนเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2559 โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหน่วยลงทุนไปลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้แก่กองทุนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่นำเงินจากTFF จำนวน 4.4 หมื่นล้านบาท เพื่อมาจ่ายเป็นค่าก่อสร้างโครงการทางด่วนตามแผนลงทุนนั้น
รายงานข่าวจาก กทพ.เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการใช้เงินส่วนดังกล่าวจ่ายค่าก่อสร้างไปแล้วบางส่วนในโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก จากวงเงินลงทุนเต็มจำนวนราว 3 หมื่นล้านบาท
“ตอนนี้การทางฯ เราเริ่มจัดสรรเงินกองทุน TFF จ่ายค่าก่อสร้างทางด่วนพระราม 3 ไปบ้างแล้ว แต่ภาพรวมก็ถือว่าจ่ายได้ช้า เพราะที่ผ่านมาเพิ่งมีการก่อสร้างเฉพาะในส่วนของสัญญา 2 และ 4 ส่วนสัญญา 1 และ 3 ติดปัญหาทางกฎหมาย ทำให้เพิ่งได้ตัวผู้รับเหมา และกำลังเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้าง”
อย่างไรก็ดี จากความล่าช้าของการจัดสรรเงินกองทุน TFF เพื่อนำไปลงทุนในโครงข่ายทางด่วนตามแผนล่าช้าออกไปนั้น ส่งผลให้ กทพ.ต้องนำเงินจากกองทุน TFF ไปบริหารจัดการในด้านอื่นๆ อาทิ ฝากสถาบันทางการเงิน และลงทุนในพันธบัตรต่างๆ แต่ยังได้รับผลตอบแทนไม่เพียงพอต่อการจ่ายอัตราดอกเบี้ย 8% ให้กับกองทุน TFF ทำให้ปัจจุบัน กทพ.แบกรับภาระอัตราดอกเบี้ยปีละ 2 – 3 พันล้านบาท
ทั้งนี้ กทพ.มีแผนจะเร่งจัดสรรเงินกองทุน เพื่อผลักดันโครงการลงทุนทางด่วนใช้เงินส่วนดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากสามารถนำเงินกองทุน TFF ไปลงทุนและเร่งก่อสร้างเพื่อเปิดให้บริการโครงข่ายทางด่วนได้มากขึ้น กทพ.ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยจ่ายอัตราดอกเบี้ย เมื่อนำมาหักลบระหว่างรายได้กับการจ่ายดอกเบี้ยก็จะทำให้ กทพ.มีกำไรจากการบริหารจัดการเงินลงทุนส่วนนี้
โดยปัจจุบัน กทพ.มีแผนนำเงินกองทุน TFF มาลงทุนโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ช่วง N2 จากแยกเกษตร – นวมินทร์ เชื่อมไปยังวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้างและคุมงานรวม 16,960 ล้านบาท โดยสถานะโครงการปัจจุบันสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดโครงการ
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้การประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 5/64 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้ กทพ.เดินหน้าลงทุนในโครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 โดยให้ผลักดันการก่อสร้างช่วง N2 ที่มีความพร้อมก่อน เนื่องจากช่วง N1 ที่จะตัดผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังติดปัญหาการเจรจาแนวเส้นทาง ดังนั้นที่ประชุมจึงมีความเห็นให้เริ่มดำเนินการช่วงที่มีความพร้อม เพื่อให้โครงการสามารถเปิดให้บริการได้ตามเป้าหมายในปี 2567 – 2568 เพื่อลดปัญหาการเจรจาติดขัด
“ตอนนี้ช่วง N2 อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯ ในเรื่องของผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจและการเงิน และขอทราบความชัดเจนในการก่อสร้างช่วง N1 ต่อ ว่าจะมีแนวเส้นทางอย่างไร รวมไปถึงการลดผลกระทบการจราจรติดขัดเมื่อมีการก่อสร้างโครงการนี้แล้วเสร็จ ซึ่งการทางฯ คาดว่า สศช.จะพิจารณาอนุมัติโครงการ N2 ภายในเดือน พ.ค.นี้ ก่อนผลักดันเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)”
ทั้งนี้ การก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N2 หากได้รับการอนุมัติจาก ครม.แล้ว สามารถดำเนินการในขั้นตอนประกวดราคาได้ทันทีในปีนี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าว กทพ.ศึกษารายละเอียดและพื้นที่ก่อสร้างมีความพร้อมอยู่แล้ว โดยขณะนี้ กทพ.ยังได้หารือร่วมกับ
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถึงกรณีการสร้างฐานรากรถไฟฟ้าในแนวเส้นทางเดียวกันกับโครงการทางด่วนช่วง N2 ซึ่งเบื้องต้นผลการหารือ กทพ.ไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนของการก่อสร้างฐานรากให้รถไฟฟ้าแล้ว
โดยสาเหตุของการปรับแผนไม่ประกวดราคาก่อสร้างฐานรากระบบรถไฟฟ้าพร้อมกับโครงการทางด่วนช่วง N2 เนื่องจากจากการศึกษาข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณ พบว่าอาจติดปัญหาการจ่ายเงินชดเชย เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ทาง รฟม.จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ดังนั้นหาก กทพ.รับหน้าที่ประมูลสร้างฐานรากรถไฟฟ้าพร้อมกับทางด่วนไปก่อน อาจติดปัญหาการจ่ายเงินชดเชยจากทางเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า เพื่อมาจ่ายให้กับเอกชนที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการทางด่วน
รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N2 ถือเป็นโครงการที่มีความพร้อมมากที่สุดในการลงทุนโครงข่ายทางด่วนที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ โดยที่ผ่านมาอาจติดปัญหาของการเจรจาแนวเส้นทางช่วง N1 เพราะมองว่าการลงทุนหากสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นไปพร้อมกันจะทำให้โครงข่ายทางด่วนสมบูรณ์ แต่เนื่องจากปัจจุบันช่วง N1 ยังไม่ได้ข้อสรุป การผลักดัน N2 ก่อนก็เป็นทางเลือกที่จะเพิ่มโครงข่ายทางด่วน ลดปัญหาการจราจรได้เป็นอย่างดี