‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ที่32.87บาทต่อดอลลาร์
“กรุงไทย” ชี้เงินบาทผันผวน จับตาประชุม กนง.ต่อสถานการณ์เงินเฟ้อ และแรงกดดันขึ้นดอกเบี้ยเฟดแต่เงินบาทจะไม่แข็งไปมากจนกว่ามีปัจจัยใหม่มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ระดับ 32.80-33.00 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(9ก.พ.)ที่ระดับ 32.87 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.93 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ32.80-33.00 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่จะมีการรายงานในวันพรุ่งนี้ ทั้งนี้ ต้องจับตา ผลการประชุม กนง. โดยเฉพาะมุมมองของ กนง. ต่อสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศ และแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะ เฟด
หาก กนง. แสดงความกังวลปัญหาเงินเฟ้อ หรือ กังวลแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งของเฟด ก็อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนในตลาดมองว่า กนง. เริ่มอยากจะขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน ซึ่งภาพดังกล่าวอาจหนุนให้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยในช่วงหลังการประชุม กนง.
ทั้งนี้ เราคงมองว่า เงินบาทคงไม่แข็งค่าไปมาก จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยหรือหนุนให้ตลาดเปิดรับความเสี่ยงชัดเจนและต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดขึ้นหากตลาดคลายกังวลปัญหารัสเซีย-ยูเครนและลดความกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ เรามองว่าฝั่งผู้นำเข้าต่างก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วง 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งก็เป็นโซนที่ฝั่งผู้เล่นต่างชาติที่เข้ามาเก็งกำไรเงินบาทก็รอขายทำกำไรสถานะเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าเช่นกัน
รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยง โดยผู้เล่นบางส่วนก็เข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่ผลประกอบการยังออกมาดีกว่าคาด แต่เผชิญแรงขายหนักในช่วงที่ผ่านมา อาทิ AMD +3.7%, Amazon +2.2%, Apple +1.9% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มการเงิน อย่าง American Express +3.3%, JP Morgan +1.9% ตามทิศทางบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่ารายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) ในเดือนมกราคม อาจหนุนให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯNasdaq ปิดตลาด +1.28% ส่วนดัชนี Dowjones ที่มีสัดส่วนใหญ่เป็นหุ้นกลุ่ม Cyclical อย่าง หุ้นกลุ่มการเงิน ก็สามารถปรับตัวขึ้นราว +1.06% ขณะที่ S&P500 ปรับตัวขึ้น +0.84%
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.21% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มCyclical โดยเฉพาะกลุ่มการเงิน อาทิ ING +3.6%, Santander +2.3%, Intesa Sanpaolo +2.0% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากความหวังว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน/นาโต้ อาจเริ่มคลี่คลายลง หลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียให้คำมั่นกับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส ว่า รัสเซียจะไม่ใช้กำลังทางทหารในบริเวณพรมแดนยูเครน และพร้อมจะถอนกำลังทางทหารที่ส่งไปซ้อมรบในเบลารุสซึ่งติดกับชายแดนยูเครนหลังการซ้อมรบสิ้นสุดลง
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 1.96% ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า รายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ จะยิ่งช่วยหนุนให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่น้อยกว่า 5 ครั้งในปีนี้ ทั้งนี้ เรามองว่า ควรติดตามแนวโน้มปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน/นาโต้ เพราะหากสถานการณ์มีความตึงเครียดมากขึ้น ก็อาจกดดันไม่ให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ปรับตัวขึ้นไปมาก อาทิ ทะลุระดับ 2.0% ไปได้ แต่ทว่า ในกรณีที่ปัญหาคลี่คลายและทั้งรัสเซียกับนาโต้ทยอยถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ เราเชื่อว่าตลาดก็พร้อมกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งอาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ไม่ยาก
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามทิศทางของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯที่ปรับตัวขึ้น ท่ามกลางมุมมองของตลาดที่ยังเชื่อว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าคาด โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์(DXY Index) แกว่งตัวใกล้ระดับ 95.63 จุด ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงสู่ระดับ 1,826 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาทองคำไม่ได้ย่อตัวลงไปมากนักเนื่องจากผู้เล่นบางส่วนยังคงกังวลปัญหาความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน/นาโต้ รวมถึง ความกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ทั้งนี้ เราคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดจะทยอยขายทำกำไรราคาทองคำมากขึ้น หลังราคาปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้านสำคัญ
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเรามองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดย กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ทั้งนี้ ควรติดตามว่า กนง. จะมีท่าทีต่อแนวโน้มเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 4 ครั้งอย่างไร หรือ กนง. จะเริ่มแสดงความกังวลแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้นหรือไม่
ส่วนในฝั่งอินเดีย ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.00% เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจต่อ แม้ว่าอินเดียอาจไม่ได้เผชิญปัญหาการระบาดของโอมิครอนที่รุนแรงนักก็ตาม