SAM กางแผนธุรกิจ 3ปี โต2เท่า เพิ่มศักยภาพบริหารหนี้เสียพุ่ง3หมื่นล้าน
SAM คาดปี65 แบงก์นำหนี้เสียประมูลขาย 8-9 หมื่นล้าน ตุนสภาพคล่องซื้อหนี้กว่า 2 หมื่นล้าน เชื่อปีหน้าแตะ 2 แสนล้าน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เหตุ หมดมาตรการช่วยเหลือ เตรียมปรับโครงสร้างองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพบริหารหนี้มากขึ้น
นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า ล่าสุด บริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยการวางระบบงานหลัก (Core Business) ใหม่ เพื่อให้บริษัทมีศักยภาพในการบริหารธุรกิจมากขึ้น
โดยเฉพาะช่วยเสริมศักยภาพในการรับซื้อหนี้เสีย การบริหารหนี้เสียได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายใน3 ปี (2565-2567) หรือสามารถบริหารหนี้เสียให้ได้ถึงปีละเกือบ 3 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่มีการบริหารหนี้เสีย ได้เฉลี่ย 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท
รวมถึง เพิ่มความสามารถ ในการ บริหารด้าน สินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) เพิ่มขึ้นเป็น 7,000-8,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 3,000-4,000 ล้านบาท เหล่านี้ก็เพื่อรักษาความเป็นอันดับ1 ของภาครัฐ ในการเข้าไปบริหารจัดการหนี้เสียต่อไปได้
สำหรับแนวโน้มการบริหารหนี้เสียปีนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่ ยังอยู่ภายใต้ มาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน ทำให้คาดว่าปีนี้ การขายหนี้ออกจากระบบอาจยังไม่มากนัก โดยคาด จะเห็นการนำหนี้ออกมาขายในระบบ 8-9 หมื่นล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่า หลังจากปี2565 ไปแล้ว หรือหมดมาตรการช่วยเหลือจากธปท. จะเห็นแบงก์นำหนี้เสียออกมาขายจำนวนมาก หลัก 2แสนล้านบาท เนื่องจากเชื่อว่า จะมีหนี้บางส่วนที่จะตกชั้น กลับมาเป็นเอ็นพีแอล
“วันนี้ มีสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า 5-6 แสนล้านบาท ที่คาดว่า จะมีเพียง 1 ใน 3 ที่สามารถกลับเป็นหนี้ชั้นปกติได้ แต่จะมีหนี้เสียราว 4 แสนล้านบาทที่จะตกชั้นเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งในจำนวนดังกล่าวคาดว่าธนาคารจะตัดขายเข้าสู่ระบบประมาณ 50% หรือราว 2 แสนล้านบาท ถือเป็นเป็นหนี้เสียที่สูงสุดเป็นประวิติการณ์ที่เคยมีออกมาขาย จากภาวะปกติที่มีเพียง1แสนล้านบาทต่อปี”
สำหรับการเตรียมพร้อม รองรับในการเข้าไปรับซื้อหนี้เสีย ปัจจุบัน บริษัทสภาพคล่อง ที่พร้อมเข้าไปรับซื้อหนี้เอ็นพีแอลจากระบบ ราว 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท และมีวงเงินกู้กับสถาบันการเงินอีกประมาณ 5,000 ล้านบาทที่สามารถเปิดใช้ได้
อีกทั้ง ล่าสุด บริษัทมีแผนจะระดมทุนผ่านการออกพันธบัตร (บอนด์) วงเงิน 4,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3-5 ปี อัตราดอกเบี้ยประมาณ 2% ต้นๆ ภายในไตรมาสที่ 2-3 ปีนี้
ซึ่งเป็นการออกบอนด์ครั้งแรก ของบริษัท ที่อยู่ระหว่างการขออนุญาตจากกรมบัญชีกลาง ในการออก ซึ่งมองว่า เป็นจังหวะที่ดี และเหมาะสม ในช่วงที่ต้นทุนทางการเงินไม่ได้สูงมาก
ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (JVAMC) ในส่วนของ SAM ได้มีการพูดคุยกับธนาคารแล้ว 1 ราย และมีความคืบหน้าไปแล้ว 50% โดยอยู่ระหว่างเจรจาโครงสร้างธุรกิจคาดไตรมาสที่ 3 น่าจะเริ่มกระบวนการจัดตั้งได้
“ภายใต้โมเดลของธปท. จะทำให้แบงก์ และเราพอใจในการทำงานร่วมกันมากขึ้น จากเดิมจะเป็นวิธีประมูลและถูกกดราคาส่วนลดเยอะ ส่วนหนึ่งเพราะเอเอ็มซีไม่มีข้อมูล แต่โมเดลนี้เราจะมีข้อมูลลึกขึ้นและให้ราคาได้สูงขึ้น ว่าคุณภาพหนี้เป็นแบบไหน”