แนะ ’ทยอย’ ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ค่อยเป็นค่อยไป
การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น มองว่า เป็นสิ่งที่คณะกรรมการจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และต้องมองระยะปานกลางมากกว่าปัจจัยเฉพาะ
ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุ การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น มองว่า เป็นสิ่งที่คณะกรรมการจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และต้องมองระยะปานกลางมากกว่าปัจจัยเฉพาะ เพราะราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น หากเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว แต่มีการตอบรับเร็ว โดยการเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น อาจส่งผลกระทบได้ สะท้อนจากครั้งก่อนที่มีการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเร็วและกระโดด แม้จะช่วยครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้น้อย แต่ได้สร้างภาระต้นทุนสูงขึ้นให้กับผู้ประกอบการ และทำให้บริษัทขนาดเล็กลดการจ้างงานไปด้วย จึงพบว่ามีกลุ่มที่มีรายได้เพิ่ม แต่ก็จะมีบางกลุ่มที่อาจไม่มีงานทำด้วย
สรท. ขอให้ภาครัฐพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยอ้างอิงจากปัจจัยการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก และขอให้พิจารณาปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการมีต้นทุนแรงงานที่ค่อนข้างสูง
1.การนำเข้าแรงงานต่างด้าวเฉลี่ยต่อคนประมาณ 12,000 บาท
2.ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จ่ายค่าจ้างเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำกำหนดไว้ ดังนั้นหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากเกินไปอาจกระทบกับธุรกิจในระดับ SME ที่กำลังฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 และยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ในช่วงเวลานี้ นอกจากนี้ภาครัฐควรต้องส่งเสริม ยกระดับ upskill–reskill ให้กับแรงงานในแต่ละอุตสาหกรรมโดยเร็ว
3.ผู้ประกอบการมีต้นทุนการฝึกอบรม และยกระดับประสิทธิภาพของแรงงานในสถานประกอบการและแรงงานใหม่ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานจริง และเมื่อแรงงานมีความพร้อม จะมีการปรับขึ้นค่าแรงให้ตามความเหมาะสม
4.ผู้ประกอบการมีการจ่ายผลตอบแทนให้กับแรงงานในรูปแบบของโบนัสและสวัสดิการอื่นเมื่อกิจการสามารถทำกำไรได้ ซึ่งสะท้อนผลิตภาพของแรงงานและสอดคล้องกับสถานการณ์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการ
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์