เอกชนร้องนำเข้าหมูสเปน แลกตลาดส่งออกไก่ไปอียู
“ปศุสัตว์”ส่งหนังสือ ถึงเฉลิมชัย หลังเอกชนขอนำเข้าหมูจากสเปน ชี้ลดลักลอบจากเพื่อนบ้านสุ่มเสี่ยงเกิดโรคระบาดซ้ำ ผวาไม่อนุมัติกระทบการส่งออกไก่ไปอียู
รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ทำหนังสือลงวันที่ 3 ก.พ.2565 ถึง นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามขั้นตอนราชการ เพื่อขอพิจารณาให้อนุญาตนำเข้าเนื้อหมูจากประเทศสเปน หลังเอกชนสนใจนำเข้าและหากไม่อนุมัติให้นำเข้าอาจมีการลักลอบนำสัตว์ข้ามแดนจากเพื่อนบ้านซึ่งอาจก่อส่งผลให้เกิดโรคระบาดได้
ทั้งนี้ ในหนังสือดังกล่าวยังระบุว่า หากไม่พิจารณานำเข้าเนื้อหมูจากสเปน อาจกระทบกับการที่ไทยส่งออกไก่ไปสหภาพยุโรป(อียู)ในปี 2565 ซึ่งคณะผู้ตรวจประเมินเพื่อรับรองการนำเข้าไก่ของอียูมีแผนจะเดินทางมาตรวจสอบเพื่อต่ออายุสถานะส่งออกไก่ของไทยช่วงมิ.ย. 2565
“การตรวจสอบตรวจรับรองเนื้อหมูและเครื่องในเพื่อการนำเข้าจาก อียู มีความเกี่ยวข้องกับการที่ไทยจะส่งออกไก่ไปอียูด้วยเช่นกัน เพราะประเทศสเปนได้ส่งคำขอ เปิดตลาดเนื้อหมู เครื่องในหมูเพื่อการบริโภคและผลิตภัณฑ์หมู เพื่อขอเปิดตลาดแบบเป็นระบบ เมื่อปี 2555แล้ว ”
สำหรับความคืบหน้าคำขอสเปน ได้ผ่านขั้นตอนการวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยง ตามประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง ขั้นตอนการนำเข้าสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์สัตว์ จากต่างประเทศ ปี 2561 กรมปศุสัตว์ได้รับรองโรงงานผลิตเพื่อนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ จำนวน 5 แห่ง เมื่อ 2 ก.ค.2564 และมีแผนเดินทางไปตรวจประเมินสถานที่ผลิต ที่ประเทศสเปนในวันที่ 7-18 ก.พ.2565
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังยืนยันว่าไม่ให้มีการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ เพราะแนวโน้มราคาหมูลดลงแล้ว และคาดว่าอีกไม่นานสถานการณ์น่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ด้านนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ” ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ แม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่ในด้านราคาที่ปรับลดลง แต่ในอนาคตแล้วการนำเข้าจะส่ง
ผลกระทบกับผู้เลี้ยงหมูทั้งระบบซึ่งสถานการณ์การขาดแคลนเนื้อหมูของไทย คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 ปี
หากเทียบกับจีน ที่ศักยภาพด้านปศุสัตว์ ล้าหลังกว่าไทยมาก แต่สามารถปรับตัว และรับมือกับโรคเอเอสเอฟ ได้เร็วและผลิตเนื้อหมูจำหน่ายในราคาที่ลดลง เพียง 2 ปีเท่านั้น
“ตอนนี้ผู้เลี้ยงทุกราย รับรู้ถึงความรุนแรงของเอเอฟเอส แล้ว และอยู่ระหว่างปรับตัวเพื่อเลี้ยงรอบใหม่ ซึ่งผมคิดว่าจะทำได้เร็ว และรับมือกับการระบาดของโรคได้ ดีกว่าที่คาดไว้ ซึ่งโรคนี้สำคัญที่พาหะนำโรค ทั้งคน สัตว์ และพาหนะ หากสามารถจัดการได้ ความเสี่ยงก็จะลดลง “
ในส่วนของซีพีเอฟ นั้น ได้ปรับรูปแบบการให้อาหารสัตว์ทุกฟาร์ม โดยสร้างไซโลอาหารสัตว์นอกฟาร์ม ลำเลี้ยงด้วยสายพาน แทนการลำเลียงด้วยยานพาหนะและคน การลงทุนดังกล่าวทำให้ต้นทุนการผลิตหมูของซีพีเอฟ เพิ่มขึ้น 10 % ในขณะที่ผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสที่3 ของปีที่ผ่านมาขาดทุน 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจหมูทั้งหมด ดดยอัตราการบริโภคหมูของไทย หายไป 20 %
“ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการรายย่อย เท่านั้นที่บาดเจ็บจากเอเอสเอฟ ซีพีเอฟก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้หมูอยู่รอด ซึ่งในขณะนี้ยืนยันว่า ในฟาร์มของบริษัทยังไม่พบการปนเปื้อน ส่วนหนึ่งเพราะเตรียมรับมือได้ดี และมีประสบการณ์จากการระบาดในรัสเซีย จีน เวียดนาม มาก่อน ซึ่งโรคนี้แท้จริงแล้วเกิดขึ้นในแถบอียูมาก่อน “