เปิดภาระหนี้ กทม.แสนล้าน จ้างเดินรถ-ค่าก่อสร้าง รฟม.
สรุปภาระหนี้ของกรุงเทพมหานคร และ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ที่มีต่อบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC จากการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งนำมาสู่การร้องศาลเพื่อให้กรุงเทพมหานครชำระหนี้
การเปิดรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จ้างบีทีเอสเป็นผู้เดินรถ
ส่วนต่อขยายที่ 1 สายสีลม ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า , ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งกรุงเทพมหานครเก็บค่าโดยสาร 15 บาท แบ่งเป็น ดังนี้
ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า เปิดในวันที่ 14 ก.พ.2556 เปิดบริการส่วนต่อขยายสายสีลมอย่างเป็นทางการจากสถานีวงเวียนใหญ่-สถานีตลาดพลู ส่วนวันที่ 5 ธ.ค.2556 เปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีลมจากสถานีตลาดพลู-สถานีบางหว้า
ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง เปิดเมื่อวันที่ 12 ส.ค.2554 ได้เปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทจากสถานีอ่อนนุชถึงสถานีแบริ่ง
ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เปิดวันที่ 3 เม.ย.2560 โดยกรุงเทพมหานครเก็บค่าโดยสารปกติ 15 บาท ต่อมาวันที่ 6 ธ.ค.2561 ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายจากสถานีสำโรง-งสถานีเคหะสมุทรปราการ โดยยังไม่มีการเก็บค่าโดยสารตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 4 ปี
ในขณะที่การเปิดบริการช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้ทยอยเปิดในวันที่ 9 ส.ค.2562 เปิดให้บริการจากสถานีหมอชิต-สถานีห้าแยกลาดพร้าว ส่วนวันที่ 5 มิ.ย.2563 เปิดให้บริการจากสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และวันที่ 16 ธ.ค.2563 เปิดให้บริการจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ-สถานีคูคต โดยยังไม่มีการเก็บค่าโดยสารตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบันรวม 3 ปี
สำหรับภารหนี้ระหว่างกรุงเทพมหานครและบีทีเอสถึงเดือน ม.ค.2565 แบ่งเป็น
ค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษา (O&M) ส่วนต่อขยายที่ 1 รวม 3,710 ล้านบาท และส่วนต่อขยายที่ 2 รวม 13,343 ล้านบาท และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) 20,088 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 37,140 ล้านบาท
ภาระเงินต้นงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่- คูคต ที่กรุงเทพมหานครรับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปี 2561 จำนวน 55,000 ล้านบาท
ภาระดอกเบี้ยงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ปี 2564-2572 ประมาณ 10,000 ล้านบาท
และเมื่อรวมภาระหนี้ของกรุงเทพมหานครที่มีทั้งหมดในปัจจุบันอยู่ที่ 102,140 ล้านบาท
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้ทำหนังสือชี้แจงกรุงเทพมหานครตามที่ถูกถามจากกระทรวงคมนาคม โดยในการประชุม ครม.วันที่ 19 ต.ค.2564 กรุงเทพมหานครรายงานความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม.และจัดทำคำชี้แจงรายละเอียดในประเด็น อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ประชาชน
จากประเด็นข้อทักท้วงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่อง อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงกว่าอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กทม. ชี้แจงว่า
อัตราค่าโดยสารสายสีเขียวในเส้นทางหลักกำหนดสูงสุดไว้ไม่เกิน 45 บาท และหากมีการเดินทางข้ามช่วงค่าโดยสารจะกำหนดไว้ต่อเนื่องจาก 45 บาทและสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน
ขณะที่สายสีน้ำเงินสูงสุดไม่เกิน 42 บาท แต่เมื่อเทียบอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าทั้งสองสาย พบว่า ค่าโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวอยู่ในอัตราใกล้เคียงกัน คือ ต่ำกว่า 30 บาทต่อเที่ยว แต่สายสีเขียวเดินทางได้ไกลสุด 55 กิโลเมตร 48 สถานี คิดค่าโดยสารเฉลี่ย 1.18 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่สายสีน้ำเงิน ระยะทาง 48 กิโลเมตร ค่าโดยสารเฉลี่ย 1.14 บาทต่อกิโลเมตร ดังนั้นค่าโดยสารเฉลี่ยของสายสีเขียวถูกกว่าสายสีน้ำเงิน