‘ทีทีอาร์’ ตั้งเป้าดึงลงทุน1 ล้านล้าน ชู EV – อิเล็กทรอนิกส์ - ท่องเที่ยว
“ม.ล.ชโยทิต” ดัน ลงทุนรอบใหม่ 1 ล้านล้าน ใน 2 ปี หนุนจีดีพีปีละ 3% ปรับโครงสร้างใหญ่การลงทุนภาคผลิตรถยนต์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ดึงลงทุนภาคท่องเที่ยว แข่งเวียดนาม-อินโดฯ ชี้เสถียรภาพการเมืองไม่เป็นอุปสรรคการทำงาน เดินหน้าดึงรายใหญ่ต่างชาติลงทุนเต็มที่
รัฐบาลได้แต่งตั้งผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) คนแรกในฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อเป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีในการเจรจาการค้าและการลงทุนในภาวะที่สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและผู้แทนการค้าไทย (TTR) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2565 เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย เป็นคนแรกของรัฐบาลชุดนี้
ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า เศรษฐกิจของไทยในหลายส่วนยังต้องอาศัยองค์ความรู้และการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจ และเพิ่มการลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เรามีความโดดเด่นแต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนและแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคกับการลงทุน
ทั้งนี้ได้รับมอบนโยบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ดึงการลงทุนต่างชาติสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่สำคัญเพราะหลังโควิด-19 ทุกประเทศจะดึงดูดการลงทุนจากภายนอกโดยในภูมิภาคอาเซียนประเทศที่เป็นคู่แข่งกับไทย คือ เวียดนามและอินโดนิเซีย
สำหรับ 3 อุตสาหกรรมสำคัญที่จะเดินหน้าปรับเปลี่ยนการดึงดูดการลงทุน และทำงานเชิงรุกในการดึงการลงทุนจากต่างชาติคือ 3 อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสัดส่วนถึง 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ประกอบด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
รวมทั้งหากปรับแนวทางการส่งเสริมการลงทุน และทำงานเชิงรุกในการดึงนักลงทุนและนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้าไทย จะมีเม็ดเงินลงทุนรอบใหม่ในประเทศไทย 1 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 2 ปี คิดเป็นการเพิ่มขึ้นของจีดีพีจะเพิ่มขึ้นได้ 6-7%
ทั้งนี้เป้าหมายการส่งเสริมการลงทุน 3 สาขาสำคัญ ประกอบด้วย การลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ประมาณ 360,000-400,000 ล้านบาท การลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ 200,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการลงทุนในส่วนของการท่องเที่ยวที่เพิ่มมูลค่าที่จะมีนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย
“อุตสาหกรรมทั้ง 3 ส่วนนี้ถือว่ามีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยมากคิดเป็นสัดส่วน 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อดึงดูดการลงทุนไม่เช่นนั้นจีดีพีส่วนนี้จะหายไปในระยะเวลาประมาณ 8-10 ปี แล้วเราจะไปตามกลับมาไม่ได้ ซึ่งลูกหลานของเราจะเดือดร้อนแน่ๆ”
สำหรับการปรับเปลี่ยนใน 3 อุตสาหกรรมหลักที่มีการพุ่งเป้าหมายมีแนวทางการทำงานและความคืบหน้าดังนี้
1.อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ปัจจุบันไทยมีศักยภาพในการผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นฐานการผลิตอันดับ 10 ของโลก แต่จากแนวโน้มของโลกในอีก 5 ปีข้างหน้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเข้ามาแทนที่ หากไทยไม่ปรับเปลี่ยนจะกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นแห่งสุดท้าย
จากนั้นในอีก 8-10 ปี การผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะไม่มีตลาดรองรับ จีดีพีในส่วนนี้ 15% จะหายไปทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางทางนี้ และต้องเพิ่มดีมานต์ในประเทศให้เพิ่มขึ้น โดยสนับสนุนราคาขายปลีกของผู้ผลิต (MSRP Support) เพื่อให้มั่นใจว่าราคาของรถยนต์ไฟฟ้าจะแข่งขันได้กับรถยนต์น้ำมัน พร้อมเปิดตัวแผนงานการจัดตั้งสถานีชาร์จ ซึ่งต้องมีการลงทุนติดตั้ง 12,000 สถานี และตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1.4 ล้านคัน ภายในปี 2030
ทั้งนี้ คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้หารือกับผู้ผลิตรถยนต์ในไทยทั้ง 15 ราย ระบุว่ายังให้การสนับสนุนไทยในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์เมื่อเปลี่ยนเป็นเทคโนโลยี EV และล่าสุดที่รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) เดินทางมาไทยได้ยืนยันที่จะสนับสนุนการลงทุนในไทย
ขณะที่ภาคเอกชนของไทยอย่าง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้จับมือกับ "ฟ็อกซ์คอนน์” พันธมิตรของบริษัทกูเกิลที่มีความร่วมมือในการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งไทยอาจจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ในอนาคต
2.อุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการเติบโตที่ต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตต้นน้ำ (Wafer) ซึ่งประเทศไทยก็มีโอกาสในการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย โดยในส่วน Wafer ในโลกยังมีความต้องการมากขึ้น มีแผนจะก่อสร้างโรงงานมากขึ้น 180 โรงงาน หากไทยสามารถดึงมาลงทุนได้ 2 โรงงานก็จะมีการลงทุนได้ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท และสามารถเชื่อมโยงซัพพลายเชนไปยังประเทศต่างๆ
รวมทั้งต้องการการลงทุนที่สอดคล้องกับการลงทุน Data Center และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความทันสมัยมากขึ้น โดยเริ่มเห็นความสำเร็จจากการที่บริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่อย่าง Arcelik ได้ย้ายสำนักงานใหญ่มายังประเทศไทย พร้อมลงทุน 300 ล้านบาท ตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย
3.อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ต้องมีการดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเข้ามาลงทุนและพำนักระยะยาวในไทยเพื่อให้มีการเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยมากขึ้น จากที่ปัจจุบันมีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย 400,000 คน ซึ่งไทยต้องการอีก 1 ล้านคนที่จะเข้ามาใช้จ่ายปีละ 1 ล้านบาทต่อคน จะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในได้มากขึ้น
สำหรับปัจจุบันนโยบายที่เป็นรูปธรรมแล้ว คือ มาตรการวีซ่าระยะยาว หรือ LTR ที่ได้สิทธิ์วีซ่าสูงสุด 10 ปี คาดว่าจะประกาศใช้และมีผลทางกฎหมายในอีก 2 เดือนข้างหน้า
ส่วนกฎหมายการถือครองอสังหาริมทรัพย์ต้องใช้ระยะเวลาทำความเข้าใจกับสังคม แต่อยากให้เข้าใจว่าประเทศส่วนใหญ่ใช้กฎหมายแบบนี้เพื่อดึงดูดการลงทุน และไม่กระทบกับอาชีพของคนไทย เพราะที่ต้องการให้เข้ามาเป็นผู้ที่มีความรู้มีศักยภาพในการเข้ามาลงทุนและใช้จ่ายในไทย
ในขณะที่ประเด็นการเมืองปัจจุบันจะเป็นอุปสรรคการทำงานหรือไม่ ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า ได้เข้ามาทำงานในส่วนนี้ไม่ได้สนการเมือง ต้องการเดินหน้าทำงานเพื่อประเทศชาติ ซึ่งก็ทำงานเต็มที่จะยุบเมื่อไหร่จะเลิกเมื่อไหร่ไม่ได้สนใจ ขอเดินหน้าทำงานที่มีให้เต็มที่มากที่สุด
“จะยุบสภาเมื่อไหร่ไม่ได้สนใจ ขอเดินหน้าทำงานเพื่อดึงการลงทุนเข้าประเทศให้เต็มที่ที่สุด”
ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ไปทำนโยบายเรื่องแนวโน้มอื่นในอนาคตด้วย เช่น อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของ Soft Power ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้ความเป็นเอกลักษณ์และจุดแข็งของประเทศมาสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกับประเทศเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ หรือการพัฒนาเกมส์ ซึ่งจะต้องส่งเสริมความสามารถของเยาวชนไทยควบคู่ไปด้วย