30 ปี ฟื้นสัมพันธ์ ฟื้นการค้าซาอุฯ เชื่อมโอกาสการค้าภูมิภาคตะวันออกกลาง

30  ปี ฟื้นสัมพันธ์ ฟื้นการค้าซาอุฯ  เชื่อมโอกาสการค้าภูมิภาคตะวันออกกลาง

พาณิชย์-เอกชน ขานรับ สัมพันธ์ ซาอุ วางเป้าเพิ่มการส่งออกไปซาอุ ให้ได้ 6.2 % ในปี 65 พร้อม กาง 7 แผน ลุยตลาดซาอุ ฯ พร้อมกรุยทางการค้าไปยังประเทศตะวันออกกลาง

การเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี หลังจากความสัมพันธ์ไทย-ซาอุ ขาดสะบั้นจากคดีเพชรซาอุฯ โดยการไปซาอุฯในครั้งนี้เป็นไปตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีช อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน ซึ่งได้จุดพุลความสัมพันธ์ไทยกับซาอุฯ กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในในหลายๆด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจการค้า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุฯได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 ที่ใช้ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศซาอุดิอาระเบีย

วันนี้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียมีสัญญาณที่ดี ถือเป็นโอกาสสำคัญของไทยในด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะซาอุฯถือเป็นตลาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคตะวันออกกลางรองจากตุรกี  จากข้อมูลของธนาคารโลก(WorldBank)ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP)ของซาอุฯอยู่ที่ประมาณ700ล้านล้านดอลลาร์  มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 46,700 ดอลลาร์ คาดว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจของซาอุฯ จะขยายตัวที่4.9 %จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง จากการลงทุนที่ขยายตัวนอกจากนี้ ยังมองว่าเศรษฐกิจของซาอุฯในปี 2566 จะยังคงขยายตัวที่ 2.3%


 

ซาอุฯถือเป็นหนึ่งในตลาดเก่าที่จะฟื้นฟูการส่งออกให้กลับมามีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อน ให้ภาพรวมการส่งออกของไทยไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางขยายตัวเพิ่มขึ้น “ชัยชาญ เจริญสุข “ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)มองว่า  ซาอุฯเป็นตลาดสำคัญของไทย โดยช่วง 10ปี ที่ผ่านตลาดซาอุฯซบเซามาก มีมูลค่าเพียง 1,600-1,700 ล้านดอลลาร์  จากที่ก่อนหน้านี้ส่งออกมีมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์  เนื่องจากผู้ส่งออกและนักธุรกิจเดินไปซาอุฯยากมากขึ้นโดยเฉพาะการขอวีซ่า เมื่อความสัมพันธ์ไทย-ซาอุ ดีขึ้นก็คาดว่า การส่งออกของไทยจะกลับมามีมูลค่า  1,800-2,000 ล้านดอลลาร์หรือ ขยายตัวได้ 10 %  ไม่เพียงเท่านี้แต่จะมีโอกาสเชื่อมต่อไปยังตลาดในประเทศตะวันออกกลางให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย 

โดยสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและ เครื่องประดับ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง  เคมีภัณฑ์ เครื่องซักผ้า-เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก ข้าวและผลิตภัณฑ์ พลาสติก อาหารสัตว์เลี้ยง กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับภาคเอกชน วางเป้าหมายการส่งออกไทยไปยังซาอุฯเพิ่มขึ้นให้ได้ 6.2 % ในปี 65  จากปี 64 ที่ส่งออก 51,000 ล้านบาท และให้เร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรค ทั้งระเบียบ กฎเกณฑ์ ต่างๆ ที่สำคัญคือ การตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างไทย-ซาอุ หรือ JTC เพื่อเป็นเวทีการเจรจาการค้า ปูทางไปสูงการทำกรอบข้อตกลงทางการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ ในอนาคต 

ส่วนแผนกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกของไทยไปยังซาอุ ทางพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้วาง

7 กิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในเบื้องต้นไว้ ประกอบด้วย

1.การจัดกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ด้านการตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคเปิดกว้างทางวัฒนธรรมของซาอุภายใต้ยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030

2.การจัดคณะผู้แทนการค้านักธุรกิจทั้งจากไทยไปซาอุและจากซาอุมาเยือนประเทศไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายระหว่างกัน

3.การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในซาอุ เช่น ข้าว อาหารฮาลาลและผลไม้ เป็นต้น เพื่อให้สินค้าได้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภค มากยิ่งขึ้น

4.การเชิญผู้ประกอบการไทยร่วมงานแสดงสินค้าในซาอุ เช่น งานแสดงสินค้าอาหารและสินค้าฮาลาล Saudi Food Expo 

5.การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารสินค้าฮาลาล ผ่านช่องทางออนไลน์

6.การเชิญผู้นำจากซาอุร่วมเจรจาการค้าผ่านออนไลน์ Online business Matching 

7.การเชิญผู้นำจากประเทศซาอุร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติของไทย ทั้งรูปแบบปกติ หรือรูปแบบไฮบริด และรูปแบบออนไลน์

ซึ่ง 7 แผนงานนี้จะมีขึ้นในปี 2565  การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุ ถือเป็นโอกาสทางการค้าที่สำคัญของไทย เพราะซาอุฯถือเป็น”พี่ใหญ่”ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่มีกำลังซื้อสูง จะช่วยปูทางการค้านำสู่อีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทางการค้าให้กับไทยได้เพิ่มขึ้น