AGE ลั่นปี 64 ผลงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ “ถ่านหิน-โลจิสติกส์” หนุน
'เอจีอี' เผยธุรกิจ "ถ่านหิน-โลจิสติกส์" หนุนรายได้-กำไรปี 64 เติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ลั่นปีนี้ตั้งผลงานขยายตัวแตะ 1.5 หมื่นล้าน บ่งชี้ผ่าานนำเข้าถ่านหินแตะ 6.5 ล้านตัน แย้มเจรจากลุ่มโรงไฟฟ้าขายถ่านหิน
วิกฤติขาดแคลนพลังงานในช่วงที่ผ่านมา กำลังส่งสัญญาณลุกลามไปทั่วโลก ! ส่งผลให้ความต้องการ (ดีมานด์) พลังงานสูงขึ้น สะท้อนผ่าน “ราคาถ่านหินโลก” ปรับตัวทำ “จุดสูงสุด” (New High) เป็นประวัติการณ์ที่ 269 ดอลลาร์ต่อตัน (ต.ค. 2564) ผลกระทบขาดแคลนพลังงานใน “จีน” และยังได้รับแรงหนุนจากฤดูหนาว รวมทั้งราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้หลายประเทศในยุโรปหันมาใช้ถ่านหินผลิตพลังงานมากขึ้น
“พนม ควรสถาพร” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) หรือ AGE ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายถ่านหินสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สารพัดปัจจัยบวกที่เข้ามาทั้งราคาถ่านหินเพิ่มขึ้นมา “3 เท่าตัว” ในปี 2564 ต่อเนื่องมาปี 2565 หลังความต้องการทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี เป็นช่วงไฮซีซั่นตลาดถ่านหินทั่วโลก เนื่องจากต่างประเทศเข้าสู่ฤดูหนาว ส่งผลให้มีการสต็อกเชื้อเพลิงถ่านหิน เพื่อใช้สำหรับผลิตไฟฟ้าสูง
สอดคล้องกับภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2564 ของ AGE มีการเติบโต “ก้าวกระโดด” ทั้งในแง่ของ “รายได้-กำไร” โดยคาดรายได้ปี2564ทำจุดสูงสุดระดับ “1.2 หมื่นล้าน” ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา ขณะเดียวกันดีมานด์ใช้ถ่านหินในและต่างประเทศที่แข็งแกร่ง รวมทั้งราคาหินปรับตัวระดับสูง ส่งผลให้บริษัทมียอดขายปี 2564 แตะ 5 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่ายอดขายปี 2563 อยู่ที่ 3 ล้านตัน ขณะที่งวดช่วง 9 เดือน ปี 2564 บริษัทมีปริมาณการขายถ่านหินรวมอยู่ที่ 4.2 ล้านตัน
“ในปี 64 ธุรกิจของเราจะโดดเด่นทั้งจำหน่ายถ่านหินและโลจิสติกส์ ด้านโลจิสติกส์ขนส่งทางน้ำ-ทางบก-ท่าเรือ-คลังสินค้าให้ครบทุกมิติ คาดว่าปีนี้จะมีรายได้รวมแตะระดับ 12,000 ล้านบาท ซึ่งทะลุเป้ารายได้เดิมที่ตั้งไว้ 11,000 ล้านบาท”
ทั้งนี้ ในแผนธุรกิจปี 2565 บริษัทเน้นสร้างการเติบโตทั้งในส่วนของ “ถ่านหิน-โลจิสติกส์” โดยเฉพาะใน “ธุรกิจโลจิสติกส์” ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 4-5% สำหรับกลยุทธ์การขยายธุรกิจโลจิสติกส์ บริษัทวางยุทธศาสตร์ขยายทั้งขนส่ง “ทางน้ำ-ทางบก-ท่าเรือ-คลังสินค้า” ให้ครบทุกมิติ เพื่อมุ่งเน้นการเติบโตของรายได้การให้บริการโลจิสติกส์กลุ่มลูกค้าภายนอก
สะท้อนผ่าน ล่าสุด บริษัท เอจีอี เทอร์มินอล จำกัด (บริษัทในเครือ) ได้มีการลงนามในสัญญาให้บริการโลจิสติกส์กับ 2 บริษัทชั้นนำใน “กลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์” และ “ทรายแก้ว” รายใหญ่ของเมืองไทย รวม 3.2 ล้านตัน หรือเฉลี่ยปีละ 1 ล้านตัน เป็นระยะเวลา 3 ปี (2565-2567) รวมมูลค่ากว่า 550 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทเตรียมขยายกลุ่มลูกค้าไปใน “สินค้าพืชผลเกษตร” เช่น มันสำปะหลังซึ่งปัจจุบันตลาดมีการส่งออกระดับ 7-8 ล้านตันต่อปี
ทั้งนี้ ในปี 2565 บริษัทเตรียมแผนรองรับการขยายคลังสินค้าให้เช่าเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีคลังสินค้าที่ให้บริการจำนวน 5 หลัง และท่าเรือ จำนวน 6 ท่า บนพื้นที่ทั้งหมด 31 ไร่ ที่อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสามารถรองรับปริมาณการขนส่งผ่านท่าเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 7 ล้านตันต่อปี
และยังมีการให้บริการขนส่งทางน้ำโดยเรือลำเลียง 36 ลำ และรถบรรทุก 100 คัน มีรถบรรทุกซึ่งเป็นพันธมิตรผู้รับจ้างงานช่วง (Sub-contractor) อีกกว่า 400-500 คัน รวมถึงขยายกองเรือโดยการเช่าและการหากองเรือพันธมิตร เพื่อเพิ่มปริมาณการบรรทุกสินค้าทางน้ำที่มีระวางขนส่ง 200,000 ตัน ซึ่งเป็นรายได้จากภายในส่วนงาน และรายได้จากกลุ่มลูกค้าภายนอก จึงเป็นตัวเสริมความแข็งแกร่งให้กับผลการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี
เขา บอกต่อว่า “ธุรกิจถ่านหิน” ปี 2565 ตั้งเป้ายอดขายถ่านหิน 6.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งบริษัทถือเป็น “ผู้นำเข้าถ่านหินมากสุด” หรือ คิดเป็น 25% ของความต้องการใช้ถ่านหินทั้งหมดเมืองไทยอยู่ที่ 20 ล้านตันต่อปี โดยการนำเข้าถ่านหินปีนี้จำนวนมากสุดนั้น เนื่องจากปัจจุบันมีสัญญาณความต้องการใช้ถ่านหินเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งบริษัทกำลังคุยกับกลุ่มลูกค้าใน “อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้ารายใหญ่” เพื่อขายถ่านหินให้ สะท้อนผ่านสัดส่วนปริมาณการใช้ถ่านหินอยู่ในกลุ่มโรงไฟฟ้าถึง 70% คิดเป็น 15 ล้านตันต่อปีของความต้องการใช้ถ่านหินทั้งหมดของไทย
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีลานรองรับปริมาณการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถขยายปริมาณรองรับถ่านหินได้สูงสุดถึง 10 ล้านตัน ดังนั้นหากมีความต้องการใช้ถ่านหินเพิ่มบริษัทยังมีพื้นที่รองรับเพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันยังใช้ไม่เต็มพื้นที่ทั้งหมด
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมปี 2565 แตะ 15,000 ล้านบาท และตั้งเป้าปริมาณยอดขายถ่านหิน 6.5 ล้านตัน โดยแผนการลงทุนด้านโลจิสติกส์นี้ บริษัทดำเนินการภายใต้มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานด้านการขนส่ง ซึ่งในปี 2564 กลุ่มบริษัทได้รับรางวัลดีเด่นด้านอนุรักษ์พลังงาน ประเภทขนส่ง จากกระทรวงพลังงาน ถือเป็นการเน้นย้ำถึงการขยายธุรกิจโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในทุกมิติ
เขา บอกต่อว่า บริษัทจะขยายไลน์ “ธุรกิจซื้อมาขายไป” (เทรดดิ้ง) ภายใต้การการจัดตั้ง 2 บริษัทย่อย อาทิ “ธุรกิจจัดหาและส่งออกสินค้าทางการเกษตร” และ “สินค้าสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม” เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นช่องทางการตลาดด้านการส่งออกธุรกิจเทรดดิ้ง โดยเฉพาะภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมเหล็ก เนื่องจากสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวมีความต้องการในประเทศจีนที่สูงมาก
ดังนั้น มองว่าในเมื่อ AGE มีความเชี่ยวชาญธุรกิจเทรดดิ้ง (ถ่านหิน) เพื่อการส่งออก รวมถึงมีธุรกิจโลจิสติกส์ด้านการขนส่งที่ครบวงจร (ขนส่งทางน้ำ-ทางบก-ท่าเรือ-คลังสินค้า) จึงมองโอกาสเพื่อการขยายและต่อยอดธุรกิจเทรดดิ้ง สำหรับการส่งออกไปยังต่างประเทศ ผ่านช่องทางโลจิสติกส์ ที่มีอยู่ เพื่อสร้างสัดส่วนรายได้และมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯในอนาคต
“ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมด้านบุคคลากร เพื่อรองรับการขยายการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าด้านการเกษตร-สินค้าสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม และอื่นๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจโลจิสติกส์ให้ครบวงจร”
ท้ายสุด “พนม” บอกไว้ว่า การขยายการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าด้านการเกษตร - สินค้าสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม และอื่นๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร จะสามารถขยายฐานกลุ่มลูกค้าด้านการขนส่งสินค้าเกษตรได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเภทสินค้าเกษตร ปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง ปุ๋ย และแร่เหล็ก