โอมิครอน เวิร์คฟรอมโฮม ทุบร้านกินดื่มกลางคืน ลูกค้าหด 80%
“ธุรกิจร้านอาหาร” ออกสตาร์ทปีใหม่ เผชิญหลากความท้าทาย ผู้ประกอบการรับปัจจัยเสี่ยง “ไวรัสโอมิครอน” กระทบวิถีชีวิตผู้บริโภคซ้ำแล้วซ้ำเล่า มาตรการรัฐที่จำกัดการกินดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกฮอล์ แม้การปลดล็อกให้บางพื้นดื่มได้ถึง 23.00 น.แต่ยอดขายกลับหดตัว
ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้น กลายเป็นความเปราะบางใหญ่ ที่จะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ และต้องโยนภาระ “อาหารแพง” ไปให้ผู้บริโภค ด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้า
ผ่านไปเกือบเดือน ชนาสิน บำรุงชน ประธานกรรมการ บริษัท กรู๊ฟเจริญ จำกัด ผู้ประกอบการร้าน “ชงเจริญ” ฉายภาพธุรกิจร้านอาหารกินดื่มยามราตรี ได้รับผลกระทบหนักขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนปีใหม่ โดยมีตัวแปรใหญ่คือวิกฤติโรคโควิด-19 ที่มีไวรัสตัวใหม่อย่าง “โอมิครอน” ระบาดอีกระลอก ทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าออกจากบ้าน และภาคธุรกิจ องค์กรต่างๆ ยังคงใช้มาตรการทำงานที่บ้านหรือ Work from home อยู่
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในร้านชงเจริญสาขาเกษตรนวมินทร์ และสาขาเซ็นทรัลเวิลด์หายไปเกิน 80%
ทว่า บริษัทจำเป็นต้องขับเคลื่อนธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีรายได้ ดูแลพนักงาน ประคองร้านไว้ พร้อมกันนี้ ได้ปรับตัวในการดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ด้วยบริการตรวจ ATK ให้มูลค่า 150 บาท สามารถนำมาเป็นส่วนลดในการซื้อเครื่องดื่ม
“ตอนนี้เราทำทุกทางเพื่อรันธุรกิจ แต่หลังจากไวรัสโอมิครอนระบาดรอบใหม่ ทำให้ลูกค้าหายไป 80% ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหนักกว่าก่อนปีใหม่ และยังมีปัจจัยกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง การเวิร์คฟรอมโฮม เป็นอีกตัวแปรสำคัญ ทำให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายไม่ออกจากบ้านมาใช้บริการ เราจึงมีการตรวจเอทีเคให้เป็นส่วนลด เหมือนจ้างลูกค้าเข้ามาที่ร้าน”
ขณะที่มาตรการรัฐขยายเวลาให้ร้านอาหารเปิดบริการนั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึง 23.00 น. ถือว่าสร้างบรรยากาศให้ธุรกิจ แม้ภาครัฐจะมีเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบร้านอาหารต่างๆให้ปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด แต่เชื่อว่าหากร้านไม่ได้ทำอะไรผิด ย่อมไม่ต้องกังวล
“ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ค่อนข้างให้ความรู้ และซัพพอร์ตผู้ประกอบการร้านอาหารในทุกสาขาอย่างมาก เตือนไม่ให้ขายเครื่องดื่มเกินเวลา ขณะที่กรณีมีการตรวจจับร้าน มองว่าเกิดจากการไม่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐจริงๆ ทั้งนี้ การขยายเวลาให้นั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 5 ทุ่ม แต่ลูกค้าก็ยังไม่กลับมาใช้บริการ ภาพรวมธุรกิจปีนี้จึงคาดว่าจะทรงตัว หรือแย่กว่าปี 2564”
ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการร้านอาหารในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ชลบุรี รายงานให้สมาคมทราบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐสั่งให้ปิดร้านเวลา 21.00 น. ไม่ใช่แค่ห้ามการดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ หลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดยาวนาน
ทั้งนี้ การเปิดร้านอาหารให้บริการตามเวลาที่รัฐกำหนด จะช่วยฟื้นธุรกิจให้มีรายได้ รวมถึงเป็นการลดการภาระและพึ่งพาการเยียวยาจากภาครัฐ
“ร้านอาหารไม่เคยมีคลัสเตอร์ ร้านจำนวนมากมีการดูแลความสะอาดให้ได้มาตรฐาน SHA และที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้เรียนรู้การลดพื้นที่ให้บริการ ลดเวลาเปิดปิ ทำตามหน่วยงานภาครัฐมาตลอด ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับการขยายเวลานั่งบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 5 ทุ่ม อยากให้ผู้ดูแลกฏหมายทำหน้าที่ตรงไปตรงมา อย่าตีความหรือฉวยโอกาสใช้ประกาศของศบค. ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหาร”
สำหรับภาพรวมธุรกิจร้านอาหารปีนี้ คาดว่าปรับตัวดีขึ้น แม้มีผู้ประกอบการจำนวนมากได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ แต่อีกมิติธุรกิจร้านอาหารที่เกิดจากครัวเรือนหรือ โฮม คิทเช่น ถือเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง เพราะคาดการณ์เปิดเพิ่มนับแสนราย
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินภาพรวมธุรกิจร้านอาหารปี 2565 จะมีมูลค่า 3.78-3.96 แสนล้านบาท เติบโต 5.5-9.9%