จับตา ครม.ลดภาษีดีเซล 3 บาท พยุงราคาอุ้มประชาชน

จับตา ครม.ลดภาษีดีเซล 3 บาท พยุงราคาอุ้มประชาชน

“สุพัฒนพงษ์” ใช้มาตรการภาษี-กองทุนน้ำมันดูแลราคา “คลัง” ยอมลดภาษีดีเซล ชง ครม.เคาะวันนี้ ห่วงกระทบรายได้รัฐที่เก็บได้ปีละ 1.44 แสนล้าน “พลังงาน” มองน้ำมันพุ่งถึงกลางปี “ส.อ.ท.-หอการค้า” เชียร์ช่วยลดต้นทุนผลิต “พีทีจี”คาดปริมาณใช้น้ำมันปีนี้เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจ

การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันกำลังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท หลังจากที่การปรับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ผ่านมาไม่ขึ้นราคาดีเซล โดยใช้กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงมาอุดหนุนราคาดีเซลลิตรละ 3.79 บาท ในขณะที่สถานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 6 ก.พ.2565 ติดลบ 16,052 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันบวก 9,166 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจีติดลบ 25,218 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานได้หารือแนวทางลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพงที่กระทบค่าครองชีพประชาชนขณะนี้ ซึ่งได้ข้อสรุปอัตราการปรับลดภาษีที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (15 ก.พ.) ลดภาษีลงลิตรละ 3 บาท กระทบรายได้รัฐปีละ 70,000 ล้านบาท

แหล่งข่าว กล่าวว่า ปัจจุบันกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลในอัตรา 5.99 บาทต่อลิตร สามารถจัดเก็บรายได้ประมาณเดือนละ 12,000 ล้านบาท หรือปีละ 1.44 แสนล้านบาท จากการใช้น้ำมัน 2,000 ล้านลิตรต่อเดือน หากปรับลดอัตราภาษีเต็มจำนวนอัตราภาษีที่จัดเก็บ จะทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้ไปในจำนวนดังกล่าวทั้งหมด

 

“คลัง”ห่วงกระทบรายได้รัฐ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน นำโดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการลดภาษีน้ำมันดีเซลดังกล่าว 

“ประเด็นที่กระทรวงการคลังเป็นห่วงไม่ใช่แค่การลดภาษีน้ำมันแล้วกระทบรายได้ของกรมสรรพสามิต แต่ยังห่วงไปถึงการปิดหีบรายได้ของรัฐบาลด้วย เพราะภาษีน้ำมันดีเซลก็ถือเป็นรายได้สำคัญ หากรายได้ส่วนนี้หายไป รัฐบาลจะนำรายได้ส่วนอื่นมาชดเชยได้อย่างไร”

แหล่งข่าว กล่าวว่า หนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงนั้น ในรัฐบาลชุดก่อนเคยใช้การปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลเข้ามาแก้ไข โดยในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลลงเหลือลิตรละ 10 สตางค์ต่อลิตร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งขณะนั้น ราคาน้ำมันอยู่ที่บาร์เรลละ 140 ดอลลาร์ จากนั้นเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง รัฐบาลในยุค คสช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ทยอยปรับอัตราภาษีน้ำมันดีเซลขึ้นมาจนอยู่ในระดับปกติในปัจจุบัน

 

“ลดภาษี-ใช้กองทุน”อุ้มพลังงาน

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า แนวทางการดูแลราคาพลังงานภายในประเทศจะผสมผสานระหว่างการใช้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันและกองทุนน้ำมันฯ

ในขณะที่มาตรการพยุงราคาน้ำมันเดิม ที่ปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลจากบี 7 เป็น บี 5 เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.2565 และถึงวันที่ 31 มี.ค.2565 จะรอดูสถานการณ์อีกครั้งว่าจะจำเป็นต้องขยายเวลาหรือไม่

“ขณะนี้ถ้าจะให้ระบุชัดเจนคงไม่ได้ ประเด็นสำคัญคือจะต้องรอผลการประชุม ครม.วันที่ 15 ก.พ.2565 ว่าจะอนุมัติเรื่องใดบ้าง โดยกระทรวงพลังงานส่งเรื่องไปแล้ว ซึ่งทุกอย่างจะดำเนินการรอบครอบ”

ส่วนมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ได้ส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้วและรอว่าจะบรรจุวาระเมื่อใด

กองทุนน้ำมันพยุงได้3เดือน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรณีกระทรวงการคลังลดภาษีน้ำมันดีเซล สิ่งแรกที่จะเห็นได้ชัดเจนคือ ประชาชนได้ประโยชน์และส่งผลดีต่อผู้ใช้น้ำมันโดยตรง อีกทั้ง ขณะนี้เงินที่กระทรวงพลังงานสนับสนุนนั้นมาจากกองทุนน้ำมันฯ ที่ช่วยเหลือเพื่อตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิด 30 บาทต่อลิตร โดยอุดหนุนลิตรละ 3.79 บาท ซึ่งเงินไหลออกจากกองทุนราวเดือนละ 7,000 ล้านบาท ส่งผลให้เงินในบัญชีกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 13 ก.พ.2565 ติดลบ 18,151 ล้านบาท ขณะที่กระแสเงินสดกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 21,000 ล้านบาท จะช่วยพยุงได้ราว 3 เดือนเท่านั้น

นอกจากนี้ ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ อยู่ระหว่างการกู้เงินเพื่อนำเงินเข้ามาใส่ในบัญชีกองทุนน้ำมันฯ อีก 30,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถกู้เงินเข้ามาใส่ได้ในช่วงเดือน เม.ย.2565 ซึ่งปัจจัยปัญหาไม่ได้อยู่แค่ราคาน้ำมัน แต่กระทรวงพลังงานต้องคอยดูแลราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือนที่มีราคาสูงเช่นกัน จึงทำให้กระทรวงพลังงานต้องคิดให้รอบคอบทุกด้าน เพื่อประโยชน์ประชาชนทุกกลุ่ม

“ตอนนี้ต้องดูว่าการจะลดภาษีน้ำมันดีเซลจะลดอยู่บนเงื่อนไขอะไร แต่ผลของการลดภาษีมีต่อประชาชนแน่นอน แต่จะเป็นผลดีกับบัญชีกองทุนหรือเปล่านั้น อาจจะดูที่ใส้ใน แต่การจะลดภาษีน้ำมันถือว่าส่งสัญญาณในทิศทางที่ดี” แหล่งข่าว กล่าว

จากปัญหาทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้น ถือว่ายังน่าเป็นห่วงต่อผลกระทบราคาน้ำมันที่จะพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายประเทศกังวลว่าหากเกิดสงครามจริงๆ ต่างก็จะต้องกักตุนน้ำมันของแต่ละประเทศ จึงมองว่าราคาน้ำมันน่าจะยังพุ่งสูงขึ้นอย่างน้อยกลางปี2565 และถึงแม้จะลงมาจริงๆ ก็ไม่น่าลงมากเท่าไหร่

 

หอการค้า-ส.อ.ท.หนุนลดภาษี

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเสนอการลดภาษีสรรพสามิตถือว่าเป็นแนวทางที่ดี โดยทั้งการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลหรือใช้กลไกอื่นตรึงราคาพลังงานช่วงที่ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นจะช่วยลดภาระต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และส่วนนี้จะส่งผลตรงต่อการลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนที่กำลังเจอปัญหาสินค้าราคาแพง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับตัวของราคาน้ำมันจะผลกระทบเป็นวงกว้างต่อราคาพลังงาน ไฟฟ้า ค่าขนส่งและค่าเดินทาง ซึ่งเป็นต้นทุนที่ทำให้โรงงานเตรียมปรับขึ้นราคาสินค้า และเบื้องต้นได้มีข้อเสนอให้ภาครัฐลดอัตราภาษีสรรสามิตลงชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับภาคขนส่งไว้ที่ 30 บาท ซึ่งที่ผ่านมาใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยพยุงราคา และต้องกู้เพิ่มอีกเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกยังปรับตัวเพิ่ม

ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นปัจจัยภายนอกที่ไทยไม่สามารถกำหนดได้ ซึ่งภายใต้สถานการณ์ขาดดุลยภาพของตลาดน้ำมันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปริมาณการผลิตยังไม่กลับมาเท่ากับปริมาณความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งความตึงเครียดในภูมิรัฐศาสตร์บริเวณชายแดนรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและอาจแตะที่บาร์เรลละ 100 ดอลลาร์

“ต้องการแก้ปัญหาระยะยาวต้องลดสัดส่วนการใช้น้ำมันและใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันนำเข้าน้ำมัน 80% ของการใช้งาน และนำเข้าก๊าซธรรมชาติ 50% ของการใช้งาน เมื่อราคาน้ำมันโลกผันผวนจึงทำให้ไทยได้รับผลกระทบมาก การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม จะลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและแก้ปัญหาในระยะยาว” นายเกรียงไกร กล่าว

 

“พีทีจี”คาดใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ปริมาณการใช้น้ำมันของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยในปี 2564 มีการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลวันละ 63.13 ล้านลิตร เทียบปีก่อนหน้าติดลบ 3.5% ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินวันละ 29.03 ล้านลิตร เทียบปีก่อนหน้าลดลง 8.5%

นายสุทธิพงษ์ วรรณวานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปิโตรเลียมไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทในเครือบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปเครื่องหมายการค้า PT กล่าวว่า ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันจะขยับขึ้นแต่ปริมาณการใช้ก็ไม่ได้ลดลงมากเท่าไหร่ เนื่องจากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวและความจำเป็นในการใช้งานจึงยังมีความสำคัญ

“ยอมรับว่าปัญหาทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นปัญหาที่ยากจะคาดเดากับผลกระทบราคาน้ำมันต่อจากนี้ได้ เพราะเป็นปัญหาทางการเมืองในการให้ข่าวระหว่างกัน แต่ก็คาดหวังว่าการเจรจาจะเป็นไปได้ดีโดยเร็ว” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ดีมานด์โลกจ่อแตะนิวไฮ

นักวิเคราะห์กลุ่มไทยออยล์ ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับขึ้นหลังตลาดกังวลความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน เนื่องจากสหรัฐคาดว่ารัสเซียมีแนวโน้มใกล้ที่จะบุกยูเครน ซึ่งอาจจะส่งให้เกิดการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย กดดันอุปทานน้ำมันดิบโลก

สำนักงานพลังงานสากล หรือ IEA คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2565 จะขยายตัว 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 100.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับรายงานประจำเดือน ก.พ.2565 ของกลุ่มโอเปก ที่คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเติบโตสูงจากสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

 

น้ำมันดิบสูงขึ้นสัปดาห์ที่ 8

นักวิเคราะห์กลุ่ม ปตท.รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI เฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 8 จากความกังวลต่อความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยวันที่ 12 ก.พ.2565 ประธานาธิบดีสหรัฐ สนทนาทางโทรศัพท์กับ ประธานาธิบดีรัสเซีย เกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครนแต่การเจรจาไม่บรรลุผล ในขณะที่รัสเซียมีแผนซ้อมรบใช้กระสุนจริงวันที่ 10-20 ก.พ.นี้ 

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากนักลงทุนขานรับปริมาณสำรองน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง โดย EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ก.พ.2565 ลดลง 4.76 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 410 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ต.ค.2561

ด้านเทคนิค สัปดาห์นี้ราคา ICE Brent มีแนวโน้มอยู่ในกรอบบาร์เรลละ 94-97.5 ดอลลาร์ โดยรายงานฉบับเดือน ก.พ.2565 ของ IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกปี 2565 เพิ่มขึ้น 3.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 100.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 0.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ในขณะที่ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig Count) ของสหรัฐ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.พ.2565 เพิ่มขึ้น 19 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 516 แท่น สูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย.256