GULF ผนึกบ.ลูกเครือเจริญโภคภัณฑ์ ตั้งบ.ร่วมทุน "เอจี โคราช" ลุยธุรกิจโซลาร์
กัลฟ์ ส่ง กัลฟ์1 ผนึก อัลเตอร์วิม บริษัทลูกซีพี จัดตั้งบ.ร่วมทุน "เอจี โคราช" ถือหุ้น 50:50 ลุยธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งบนหลังคาและพื้นดิน เจาะฐานลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม และธุรกิจ ในโคราช เน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน สอดรับนโยบายรัฐ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทขอแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบว่า เมื่อวันที่14 กุมภาพันธ์2565 บริษัท กัลฟ์1จำกัด (GULF1) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ดำเนินธุรกิจ พลังงานแสงอาทิตย์และ บริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด (Altervim) ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ถือหุ้นโดย บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (เครือเจริญโภคภัณฑ์) ในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ได้ร่วมกันจัดตั้ง" บริษัท เอจี โคราช จำกัด" (AG Korat)
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนครั้งนี้ เพื่อดำเนินธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งรวมถึง พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และพลังงาน แสงอาทิตย์บนพื้นดิน (Solar Farm) โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม และลูกค้าภาคธุรกิจ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัด นครราชสีมา
ทั้งนี้บริษัทร่วมทุนดังกล่าว ถือหุ้นโดย GULF1 ร้อยละ 50 และ Altervim ร้อยละ 50 ความร่วมมือทางธุรกิจในครั้งนี้เป็นการผนึกความแข็งแกร่งของทั้งสองกลุ่มบริษัท
โดยบริษัท มีความชำนาญในธุรกิจ ผลิตไฟฟ้าและธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ และเครือข่ายทางธุรกิจที่กว้างขวาง ในขณะที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย ที่มีธุรกิจหลักทางด้านอาหาร การเกษตร และค้าปลีก และมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มมูลค่าทาง ธุรกิจให้กับทั้งสองกลุ่มบริษัทฯ
นอกจากนี้ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐและทิศทางพลังงานโลกที่มีเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อต่อต้าน ผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ