เปิดรายละเอียด 6 ข้อ "แพคเกจ รถ EV" รถประเภทไหน ลดภาษีเท่าไหร่?

เปิดรายละเอียด 6 ข้อ  "แพคเกจ รถ EV" รถประเภทไหน ลดภาษีเท่าไหร่?

ครม.ไฟเขียวมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตั้งเป้าผลิตรถ EV ในประเทศ ได้ 7.2  แสนคันต่อปี พร้อมคลอดมาตรการ 6 ด้าน สนับสนุนการลดภาษีนำเข้า อุดหนุนรถ EV ทั้งรถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถกระบะ สูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคัน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ รับทราบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเพี่อส่งเสริมให้เกิดการผลิต การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ของยานยนต์ทุกประเภทด้วย

“  การดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งหวังให้ ราคารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) สามารถแข่งขันได้  และแผน 30@30 โดยปี ค.ศ. 2030 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย หรือต้องผลิตรถ EV ได้ 725,000 คันต่อปี  โดย นายกรัฐมนตรีและครม. ยังเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เพื่อไม่ให้ไทยสูญเสียโอกาศ และความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะตอกย้ำความเป็น Detroit of Asia ของไทย”

สำหรับ รายละเอียดมาตรการแบ่งเป็นมาตรการทางภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ทางภาษี แบ่งออกเป็น 6 ข้อ ตามประเภทของรถยนต์ EV ได้แก่

1.กรณีรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน (รถยนต์นั่งฯ) BEV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในส่วนของมาตรการภาษี จะให้นำเข้า CBU ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรี โดยหากมีอากรไม่เกิน 40% ให้ยกเว้น หากมีอากรเกิน 40% ให้ลดอัตราอากรลงอีก 40% ปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่ง ประเภท BEV จากเดิม 8% เหลือ 2% ในปี 2565 – 2568

ให้เงินอุดนหนุน 70,000 บาทต่อคัน สำหรับแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ส่วนที่แบตเตอรี่ที่มีขนาด 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงขึ้นไป ได้เงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทต่อคัน

2.กรณีรถยนต์นั่งที่ขนาดตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ประเภท BEV ที่มีราคามากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท  ครม.เห็นชอบให้ปรับลดอากรศุลกากรในปี 2565 – 2566  คือ การนำเข้ารถ CBU หากอากรไม่เกิน 20% ให้ได้รับยกเว้นอากร หากอากรเกิน 20% ให้ลดอากรลงอีก 20%  ส่วนอัตราอากรนำเข้าให้ลดเหลือ 60% และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งฯประเภท BEV จาก 8% เหลือ 2% ในปี 2565 – 2568

3.รถยนต์กระบะ BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ได้เงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทต่อคัน เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศ (CKD) และมีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป

4.กรณีรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 1.5 แสนบาท โดยมีมาตรการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตตามมูลค่า 1%  สำหรับรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด

โดยในส่วนของเงินอุดหนุนจะให้ 18,000 บาท ต่อคัน สำหรับรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ครอบคลุมทั้งกรณีจักรยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ และการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งคัน

5.การผลิตหรือประกอบรถยนต์ BEV ในประเทศ ในเขตปลอดภาษีอากรหรือเขตประกอบการเสรีในปี 2565 – 2568 โดยอนุมัติให้มีการนับมูลค่าของ Cell แบตเตอรี่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศสำหรับ การนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ และนำไปผลิตหรือประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (ประเภท BEV) ในเขตปลอดอากร (Free Zone) หรือเขตประกอบการเสรี รวมเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศ สำหรับการคำนวณ

มูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกิน 15% ของราคายานยนต์ไฟฟ้า (BEV) หน้าโรงงาน เพื่อส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศ

เปิดรายละเอียด 6 ข้อ  \"แพคเกจ รถ EV\" รถประเภทไหน ลดภาษีเท่าไหร่?

และ 6. สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตหรือประกอบภายในประเทศ เห็นควรส่งเสริมให้ใช้ชิ้นส่วนที่มีการนำเข้าในช่วงระยะเวลา ในปี 2565 – 2568 ประกอบด้วย แบตเตอรี่ Traction Motor คอมเพรสเซอร์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) On-Board Charger PCU inverter DC/DC Converter และ Reduction Gear รวมทั้งส่วนประกอบของชิ้นส่วนดังกล่าว ให้ได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิ์ โดยให้สถาบันยานยนต์ เป็นผู้รับรองชิ้นส่วนสำคัญและชิ้นส่วนย่อยเพื่อลดอากรขาเข้าเพิ่มเติมต่อไป

 

สำหรับค่ายรถที่เข้าร่วมมาตรการกับรัฐบาล ต้องรับเงื่อนไข ได้แก่ 1.มีการผลิตชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่ นำเข้า CBU ระหว่างปี 2565-2566 ในปี 2567 หากจำเป็นต้องขยายระยะเวลาได้ ถึงปี 2568 จะต้องผลิตในอัตราส่วน 1.5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) ผู้ใช้สิทธิ์สามารถผลิตรถ BEV รุ่นใดก็ได้ เพื่อชดเชย ยกเว้นรถยนต์ที่มีราคาขาย ปลีก ราคา 2 ล้านบาทไม่เกิน 7 ล้านบาท จะต้องผลิตรุ่นเดียวกันกับที่มีการนำเข้ามาในประเทศไทย

โดยหลักเกณฑ์ในการใช้สิทธิ์ 1. ต้องเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่ทำสัญญากับ กรมสรรพสามิต โดยกรมฯ จะอุดหนุนเงินและภาษีฯ ไปที่ผู้ประกอบการเท่านั้น 2. ประเภทรถยนต์ครอบคลุมรถยนต์ รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ เฉพาะ BEV

และเงื่อนไขการใช้สิทธิ์และบทลงโทษคือ 1. จะต้องมีการวางเงินค้ำประกัน (Bank Guarantee) ประกอบการขอใช้สิทธิ์ฯ 2. หากไม่ปฏิบัติติตามประกาศฯ จะต้องคืนเงินอุดหนุนเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย ยึดเงิน ค้ำประกันจากธนาคาร ไม่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มฯ