เกษตรฯ ดันเลี้ยง ‘ครั่ง’ ส่งป้อนตลาดโลก

เกษตรฯ ดันเลี้ยง ‘ครั่ง’ ส่งป้อนตลาดโลก

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะเกษตรกรเลี้ยงครั่ง เสริมรายได้ ป้อนตลาดแมลงเศรษฐกิจ ชี้ไทยมีการส่งออกปีละ 126 ล้านบาท

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง ระบุ  ครั่ง เป็นยางหรือชันที่ได้จากแมลงครั่ง ซึ่งจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจที่มีอนาคตไกลชนิดหนึ่ง โดยในปี 2564 มีเกษตรกรผู้เลี้ยงครั่ง 4,015 ราย มีพื้นที่เลี้ยงครั่ง 7,541 ไร่ ปริมาณผลผลิตครั่งดิบ ประมาณ 4,100 ตัน มีมูลค่าการส่งออกครั่งกว่า 126.43 ล้านบาท และเนื่องจากในการเลี้ยงครั่งเกษตรกรไม่ต้องดูแลมาก ลงทุนน้อย ให้ผลผลิตดี ใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 12 เดือน ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตครั่งดิบได้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงแนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงครั่งเป็นอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในครัวเรือน 

ทั้งนี้ ครั่งจะเจริญเติบโตได้ดีบนต้นไม้ที่มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม มีเรือนยอดแผ่กว้าง โปร่งมีอากาศถ่ายเทดี และอายุของกิ่งต้องไม่แก่และไม่อ่อนจนเกินไป ได้แก่ ต้นจามจุรี (ฉำฉา หรือ ก้ามปู) พุทราป่า ลิ้นจี่ สะแก ปันแถ มะแฮะนก สีเสียดออสเตรเลีย ไทร และต้นมะเดื่ออุทุมพร นอกจากนี้พื้นที่ปลูกต้นไม้เลี้ยงครั่งจะต้องมีสภาพแวดล้อมและมีอุณหภูมิที่เหมาะสม และควรจะตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานรับซื้อครั่งดิบ ซึ่งประเทศไทยมีการเลี้ยงครั่งมากในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่วนประโยชน์ของ ครั่ง เป็นแมลงจำพวกเพลี้ยชนิดหนึ่ง ครั่งจะขับถ่ายสารเหนียวสีเหลืองออกมา จะมีลักษณะเป็นยางหรือชัน และเมื่อถูกอากาศจะแข็งตัวกลายเป็นสีน้ำตาลหุ้มรอบกิ่งไม้ที่แมลงครั่งอาศัยอยู่ ครั่งที่เก็บได้จากต้นไม้เรียกว่า “ครั่งดิบ” มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ เรซิน ขี้ผึ้ง สี ซาก ตัวครั่ง และสารอื่น ๆ เมื่อนำครั่งมาแปรรูปจะได้เป็นเชลแลค ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมยา โดยนำเชลแลคมาเคลือบยาเม็ดเพื่อป้องกันความชื้น และป้องกันตัวยาทำปฏิกริยากับกรดในกระเพาะอาหาร อุตสาหกรรมกระดาษ นำเชลแลคมาใช้เคลือบกระดาษเพื่อช่วยให้แข็งแรงสวยงาม ป้องกันการเปื้อนสกปรก และใช้เป็นตัวประสานในการผลิตกระดาษสำหรับภาชนะบรรจุอาหาร อุตสาหกรรมหมึกพิมพ์ นำเชลแลคมาใช้ในการทำหมึกเขียนชนิดกันน้ำ