บีซีพีจี เปิดกลยุทธ์ลงทุน 5 ปี ตั้งงบ 9.5 หมื่นล้าน กำลังผลิต 2,000 เมกกะวัตต์

บีซีพีจี เปิดกลยุทธ์ลงทุน 5 ปี ตั้งงบ 9.5 หมื่นล้าน กำลังผลิต 2,000 เมกกะวัตต์

บีซีพีจี เปิดแผนกลยุทธ์ 5 ปี มั่นใจสามารถเติบโตกำลังการผลิตอย่างก้าวกระโดดกว่าเท่าตัว ตั้งเป้ารายได้ปี 65 โต 25%

นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG กล่าวว่า แผนกลยุทธ์ 5 ปี BCPG “Running at Lightning Speed” ว่า ในอีก 5 ปีนับจากนี้  บีซีพีจี วางเป้าหมายขยายการเติบโตขึ้นร้อยละ 100 หรือเติบโตเท่าตัวจากปัจจุบัน ทั้งด้านรายได้ และกำลังการผลิต จาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่

1. ธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 

2. ธุรกิจบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (smart energy solution) อาทิ ธุรกิจผลิต และจำหน่ายระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือแบตเตอรี่ ธุรกิจการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตฯลฯ

3. ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ (smart infrastructure) อาทิ ธุรกิจพัฒนาเมืองอัฉริยะ ให้สมบูรณ์ครบวงจรทั้งด้าน พลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

โดยบีซีพีจีจะดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การสร้างความสมดุลในการลงทุน (Balance Portfolio) ด้วยการขยายธุรกิจทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา 2. การสร้างโอกาสเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ (Opportunity) 3. ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่า (Return on Investment) และ 4. ต้นทุนทางการเงิน อยู่ในระดับต่ำ (Optimized Funding Cost)

"จากแผนการดังกล่าวต้องใช้งบลงทุนถึง 95,000 ล้านบาท โดยบริษัท มีความพร้อมจากเงินลงทุนที่มีอยู่เดิม 65,000 ล้านบาท รวมกับเม็ดเงินที่จะได้รับจากการขายโครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ที่อินโดนีเซีย ทำให้มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 30,000 ล้านบาท เพียงพอสำหรับการลงทุนตามแผน"

สำหรับแผนการลงทุนในช่วงปี 2565-2566 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 70,000 ล้านบาท โดยบริษัทได้ตกลงที่จะขายโครงการโรงไฟฟ้าในมูลค่า 440 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 14,600 ล้านบาท ในขณะที่โครงการมีมูลค่าทางบัญชี 12,295 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 โดยคาดว่าจะรับรู้กำไรจากการขายหุ้นในโครงการดังกล่าว ภายในไตรมาสที่ 1/2565 

"แม้จะเป็นสินทรัพย์ที่ดี มีกระแสเงินสดมั่นคง แต่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงการใหม่เพื่อสร้างความเติบโต (Growth) ค่อนข้างนานกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่น ซึ่งอาจจะตอบสนองกลยุทธ์การขยายการเติบโตเราได้ไม่ทันการณ์ การขายโครงการ จึงเป็นการเพิ่มความสามารถในการลงทุนของเราให้มากขึ้น ทำให้ขยายการลงทุนใหม่เพื่อหารายได้มาทดแทน"

ในปี 2565 บริษัทจะมีการรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากการเปิดขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการต่างๆ ได้แก่

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยาบูกิ และโคมากาเนะ ในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์และโครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Smart City) กำลังการผลิต 4.9 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีการนำระบบกักเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี่ ไปใช้ในการบริหารจัดการพลังงานที่โครงการนี้อีกด้วย

สำหรับความคืบหน้าของการพัฒนาในโครงการที่สำคัญของบริษัท ยังเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง โดยยังให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศแถบเอเชีย และแถบอินโดจีน อาทิ เวียดนาม ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศสูง จีน (ไต้หวัน) ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานทดแทนสูง เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงฟอสซิล ฯลฯ

“บีซีพีจี ตั้งเป้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ไต้หวัน ด้วยกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ใน 5 ปี ข้างหน้า ขณะที่ในลาว บริษัทมีสิทธิในการร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมส่วนเพิ่มขนาด 1,000 เมกะวัตต์ และสำหรับในไทยมีแผนเข้าลงทุนโดยการควบรวมกิจการในโครงการที่น่าสนใจเป็นไปตามกรอบกลยุทธ์ที่วางไว้”

ปัจจุบัน บีซีพีจีมีกำลังการผลิตทั้งหมด 1,108 เมกะวัตต์ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เรียบร้อยแล้ว 345 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างพัฒนา 764 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการ เชิงพาณิชย์ได้ ทั้งหมดภายในปี 2567

ล่าสุดบริษัทได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Agreement) กับ Capital Asia Investments Pte. Ltd. (CAI) ในฐานะผู้ร่วมลงทุนกับบริษัท และกระทรวงการเงิน สปป. ลาว ในนามของรัฐบาล สปป. ลาว (GOL)

การร่วมลงทุนกับ CAI ในวงเงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์ในครั้งนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนใน สปป. ลาว ผ่านวิสาหกิจถือหุ้นลาว (Lao State Holding Enterprise หรือ LHSE ) และ การให้บริการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการธุรกิจพลังงานหมุนเวียนแก่ LHSE ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่จะตกลงกันต่อไป

ในการนี้ บริษัท และ CAI อยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะกิจการ (due diligence)  และการเจรจาข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาหลักกับ GOL สำหรับธุรกรรมดังกล่าว และเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

นอกจากนี้ บีซีพีจี ยังได้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2030 ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดซับคาร์บอน

โดยตั้งเป้าปลูกป่าในประเทศไทย 1,000 ไร่ ใน 2 ปี และทยอยปลูกป่าในประเทศที่ตั้งโครงการฯ อีกกว่า 10,000 ไร่

ขณะเดียวกันยังเป็นหนึ่งในผู้จัดตั้ง Carbon Markets Club แพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการแก้ปัญหาโลกร้อนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตกันได้ตามความสมัครใจอีกด้วย

 


พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์