“GC” เพิ่มมูลค่าธุรกิจรับ 5 เมกะเทรนด์โลก สู่อุตสาหกรรมอนาคต
“GC” เพิ่มมูลค่าธุรกิจรับ 5 เมกะเทรนด์โลก ตอบโจทย์อนาคตด้วยวิสัยทัศน์เพิ่มมูลค่าธุรกิจผ่านแนวคิดการตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของผู้คน ด้วยการสร้างสรรค์เคมีภัณฑ์คุณภาพดี ด้วยกระบวนการผลิตที่ดี เป็นมิตรต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ดีต่อโลกอย่างยั่งยืน
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินงานปี 2565 เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจอนาคตและสอดคล้อง 5 เมกะเทรนด์โลก ประกอบด้วย Climate Change & Energy Transition, Demographic Shift, Health&Wellness, Urbanization และ Disruptive Technology ที่มีผลต่อการเติบโต การดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ การแข่งขันทางการค้า และการปรับเปลี่ยนทิศทางของภาคอุตสาหกรรมสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ
ทั้งนี้ GC มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มุ่งเน้นดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เช่น บรรจุภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์การสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง พลาสติกเชิงวิศวกรรม ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่รอบตัวดังนั้น กระบวนการผลิตและบริหารจัดการต้องดี และดีต่อสิ่งแวดล้อมดีต่อโลก
ดังนั้น GC ได้เดินหน้าธุรกิจแห่งอนาคตด้วยกลยุทธ์ 3 Steps คือ 1. Step Change ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน สานต่อสร้างเสริม GC ให้เข้มแข็ง ทั้งด้านความปลอดภัยและเสถียรภาพการผลิต ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและตลาดโลกให้มากขึ้น อาทิ โครงการผลิตพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงที่ GC ร่วมทุนกับ บริษัท Kuraray และ บริษัท Sumitomo ของประเทศญี่ปุ่น อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อผลิต High Heat Resistant Polyamide-9T ที่ 13,000 ตันต่อปี และ Hydrogenated Styrenic Block Copolymer 16,000 ตันต่อปี และโครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีน ของบริษัท HMC Polymers การปรับโครงสร้างธุรกิจ PVC ภายหลัง VNT ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อขยายตลาด PVC ไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. Step Out แสวงหาโอกาสหลังจากประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการ allnex เพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่หรือในต่างประเทศ โดยการปรับองค์กรตั้งหน่วยงานธุรกิจต่างประเทศขึ้น เพื่อต่อยอดการเติบโตของบริษัท มุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ สนองตอบความต้องการของผู้บริโภคภายใต้เมกะเทรนด์โลก
และ 3. Step Up กลยุทธ์สร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ: ด้วยการเป็นต้นแบบองค์กรเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล มุ่งเน้นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) สร้างสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) สอดรับกับเมกะเทรนด์ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change)
อย่างไรก็ตาม GC ยกระดับคุณภาพชีวิต มุ่งสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์การขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ การขับเคลื่อนด้วยการบริหารพอร์ตโฟลิโอธุรกิจ และการขับเคลื่อนการชดเชยคาร์บอน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 20% ภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจ และยังได้ Transform องค์กร ได้แก่ Digital Transformation, Market Focused Business Transformation, Lean Process and Organization Transformation รวมทั้งปรับองค์กรเพื่อการดำเนินงานด้าน Decarbonization
ทั้งนี้ ปี 2564 GC มีรายได้จากการขาย 465,128 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% มีกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมผลกำไรจากสต็อกน้ำมัน และการปรับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ ผลขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยง และรายการพิเศษอื่น ๆ) ที่ 55,186 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 93% จากปีก่อนหน้า ส่งผลให้ในปี 2564 มีกำไรสุทธิรวม 44,982 ล้านบาท (10.01 บาท/หุ้น) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 200% จากปี 2563
เพื่อการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร GC ได้ปรับพอร์ตโฟลิโอเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยได้ประกาศซื้อหุ้น VNT จากผู้ถือหุ้น เพื่อขยายฐาน สร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจปลายน้ำ และเป็นการเพิ่มมูลค่าในธุรกิจสายโอเลฟินส์ให้กับ GC และปรับพอร์ตโฟลิโอการลงทุน โดยลดขนาดของกลุ่มธุรกิจที่เป็น Non-Petrochemical ลง เพื่อโฟกัสไปที่กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ให้มากขึ้น โดยขายหุ้น GPSC ให้ ปตท. จำนวน 12.73% มูลค่าราว 25,000 ล้านบาท โดยเหลือหุ้นอยู่จำนวน 10 %
นอกจากนี้ ยังได้ออกและเสนอขายหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิให้กับนักลงทุน และสถาบันต่างประเทศ จำนวนรวม 1,250 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมีนาคม 2564 โดยเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างมากจากยอดจองซื้อกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ และออก และเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินบาท จำนวนรวมทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ในเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมาโดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมากและมียอดจอง 1.5 เท่าของวงเงินที่เสนอขาย ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านเงินทุนในอนาคต
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์