พาณิชย์ เตรียมเปิดเผยราคายา เวซภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ใหม่เพิ่มเติม
กรมการค้าภายใน เตรียมเพิ่มรายการยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ใหม่ๆ ของโรงพยาบาลเอกชน เผยแพร่บนเว็บไซต์กรม ลั่นผลจากการเป็นสินค้าและบริการควบคุม และเปิดเผยราคาบนเว็บ ทำราคายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ลดลงมาก
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเพิ่มจำนวนยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล และบริการทางการแพทย์ให้มากขึ้น เพื่อนำไปเผยแพร่บนเว็บไซต์กรม [http://www.dit.go.th%20และ]www.dit.go.th และให้ประชาชนสามารถตรวจสอบราคาของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการ คาดว่า จะหารือแล้วเสร็จ และคัดเลือกรายการใหม่ๆ เพิ่มเติมไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ได้ในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ราคายา และค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน ถูกลงกว่าเดิมมาก หลังจากที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ได้ออกประกาศให้สินค้ายา เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าและบริการควบคุม มาตั้งแต่ปี 62
พร้อมกันนั้น ได้กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนกว่า 300 แห่ง รวมถึงผู้ผลิตและผู้นำเข้ายา ต้องแจ้งข้อมูลราคาซื้อ และขายยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการรักษาพยาบาล และบริการทางการแพทย์ ตามรายการที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP) และที่มีปริมาณการจำหน่ายสูงสุด 100 รายการแรก ตามบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานไทย มาให้กรม เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุน และราคาที่โรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งขาย หรือให้บริการกับผู้ป่วย เหมาะสม เป็นธรรมหรือไม่ และกรมได้นำราคาดังกล่าวมาเผยแพร่บนเว็บไซต์กรม เพื่อให้ประชาชนเปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง
“ผลจากการกำหนดให้เป็นสินค้าและบริการควบคุม รวมถึงการเผยแพร่ราคา บนเว็บไซต์ของกรม ทำให้ราคาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งลดลง เพราะประชาชนสามารถเปรียบเทียบยาชนิดเดียวกัน หรือค่ารักษา ค่าบริการทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลแต่ละแห่งได้ ถ้าของโรงพยาบาลใดแพงกว่า ก็ไม่ใช้บริการ หรือขอใบสั่งยาไปซื้อนอกโรงพยาบาลได้เอง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องลดราคาลง เพราะทุกวันนี้ โรงพยาบาลเอกชน มีการแข่งขันกันสูงมาก อีกทั้งกรมมีข้อมูลต้นทุนของโรงยาบาลเอกชนแต่ละแห่งแล้ว ทำให้ไม่กล้าคิดราคาสูงเกินจริงเหมือนที่ผ่านมา”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชนมักคิดค่ายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ในราคาสูงเกินจริง ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก กระทรวงพาณิชย์ จึงได้นำสินค้าดังกล่าวเข้าสู่บัญชีและบริการควบคุมมาตั้งแต่ปี 62 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม จากการที่ให้โรงพยาบาลเอกชนส่งข้อมูลราคาซื้อ และขายมาให้กรมพิจารณา พบว่า ก่อนหน้านั้น โรงพยาบาลเอกชนตั้งราคาขายยา เวชภัณฑ์สูงเกินสมควรอย่างมาก ตั้งแต่ 30-300% ของราคาต้นทุน แต่ปัจจุบัน ราคาลดลงแล้ว