เอกชนท่องเที่ยว 20 องค์กรจี้ “บิ๊กตู่” คลายล็อกเดินทางเข้าไทย

เอกชนท่องเที่ยว 20 องค์กรจี้ “บิ๊กตู่” คลายล็อกเดินทางเข้าไทย

ภาคเอกชนท่องเที่ยว 20 องค์กรร้องนายกฯ “ประยุทธ์” ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าไทย ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ปรับลดกักตัว หลังหลายประเทศปลดล็อกเดินทาง หวังแข่งดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติทันไฮซีซั่นครึ่งปีแรก ลุ้น "ศบค." ชุดใหญ่เคาะปรับมาตรการ 23 ก.พ.นี้

แหล่งข่าวจากภาคเอกชนท่องเที่ยว เปิดเผยว่า ตัวแทนภาคเอกชนท่องเที่ยวจาก 20 องค์กร อาทิ สมาคมโรงแรมไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสมาคมท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี ระนอง สตูล และชลบุรี ได้ทำหนังสือยื่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมสำเนาถึงรัฐมนตรีกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องขอให้รัฐบาลพิจารณาผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ

หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้มีมติผ่อนคลายการเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา ภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวขอชื่นชมในการตัดสินใจที่จะเดินหน้าเปิดประเทศในครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยยังเป็นผู้นำอันดับต้นๆ ทางด้านการท่องเที่ยวของเอเชีย

โดยจากสถิติการเดินทางเข้าประเทศพบว่าตั้งแต่วันที่ 1-13 ก.พ.ที่ผ่านมา มีผู้เดินทางเข้าประเทศแล้วกว่า 78,793 ราย พบว่าในวันที่ 5 ที่มีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ครั้งที่ 2 นักท่องเที่ยวได้เข้าพักในโรงแรมกระจายไปเกือบทุกจังหวัดของประเทศไทย เป็นสัญญาณที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และพลิกฟื้นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังพบว่า “อัตราการติดเชื้อ” ของผู้เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำและสามารถบริหารจัดการได้ เช่น ตั้งแต่วันที่ 1-13 ก.พ. จังหวัดภูเก็ตพบผู้ติดเชื้อจากนอกประเทศคิดเป็น 2.84% โดยแยกเป็นผลบวกจากการตรวจครั้งที่ 1 ที่ 2.17% และผลบวกจากการตรวจครั้งที่ 2 ที่ 3.56% ซึ่งนักท่องเที่ยวทั้งหมดเป็นผู้ป่วยสีเขียว ซึ่ง 56% ของผู้ติดเชื้อได้เข้ากักตัวในรูปแบบ Hotel Room Isolation อีก 11% เป็นผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนโดยมีเอกสารยืนยันมาแสดง 6% เข้ากักตัวใน Hospitel หรือโรงพยาบาล และที่เหลือเป็นผู้ที่เดินทางออกนอกประเทศไปแล้วหรือรอดำเนินการ โดยผู้เดินทางทั้งหมดเป็นผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย และไม่ต้องการการดูแลจากแพทย์

“ภาคเอกชนพบว่าสถานการณ์การระบาดในปัจจุบันถึงแม้จะมีอัตราผู้ติดเชื้อที่สูงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ได้สร้างภาระหรือกดดันระบบสาธารณสุขแต่เพียงอย่างใด และพบอัตราการตายที่ต่ำมากซึ่งใกล้เคียงกับการป่วยเป็นโรคหวัด”

ยิ่งไปกว่านั้นหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักในช่วงฤดูกาล ท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เช่น สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ อังกฤษ และ สวิตเซอร์แลนด์ ได้ยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 เกือบทั้งหมด เช่น ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ยกเลิกการกักตัว เป็นต้น

และประเทศในเอเชียแปซิฟิกได้ทยอยปรับมาตรการการเดินทางเข้า เช่น ฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกการตรวจโควิดเมื่อเดินทางมาถึงตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. คงเหลือเพียงแต่การแสดงเอกสารการฉีดวัคซีนและการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง 48 ชั่วโมง, กัมพูชาได้ปรับการตรวจที่สนามบินเป็นการตรวจด้วย ATK สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว และต้องแสดงเอกสารการฉีดวัคซีนครบโดสและการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง, ออสเตรเลียได้ยกเลิกมาตรการการกักตัว โดยตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. ทุกคนที่ได้รับวัคซีนครบสามารถเดินทางสามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยแสดงเอกสารการตรวจ RT-PCR เป็นลบ 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง นอกจากนี้ประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่แข่งด้านการท่องเที่ยว เช่น เวียดนามและญี่ปุ่นก็เตรียมประกาศยกเลิก มาตรการการเดินทางในเดือน เม.ย.นี้

“การผ่อนคลายมาตรการเหล่านี้ของประเทศต่างๆ ทำให้ประเทศไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวบนเวทีโลก กล่าวคือนักท่องเที่ยวจะเลือกเดินทางไปยังประเทศที่ไม่มีมาตรการใดๆมากกว่าการเดินทางมาประเทศไทย”

ดังนั้นเมื่อวิเคราะห์จากปัจจัยเบื้องต้นภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวจึงเรียนมาเพื่อขอให้ ศบค.พิจารณาผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศในระยะเวลาที่เหลือของเดือน ก.พ. ดังต่อไปนี้

1.งดการตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 เนื่องจากอัตราการติดเชื้อของนักท่องเที่ยวในวันที่ 5 น้อยกว่าการติดเชื้อในท้องถิ่น ณ ปัจจุบัน และเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่นักท่องเที่ยว

2.ปรับลดการกักตัวของผู้ติดเชื้อเหลือ จากเดิม 10 วัน ให้เหลือเพียง 5 วัน

3.ยกเลิกมาตรการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่หากตรวจหาเชื้อแล้วเป็นลบในวันแรก

4.ปรับลดวงเงินประกันการเดินทางจาก 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้เหลือ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ในเดือน มี.ค.ขอให้พิจารณาประกาศให้โควิดเป็น “โรคประจำถิ่น” ตามแนวทางที่ประเทศต่างๆ ในโลกได้เริ่มดำเนินการ และยกเลิกมาตรการคัดกรองการเดินทางเข้าประเทศ อาทิ การขอไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) และการตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 1 เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาประเทศไทยได้อย่างสะดวก และเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดมากที่สุด

นอกจากนี้เดือน เม.ย.ที่จะมาถึงเป็นเดือนสำคัญของการท่องเที่ยวของโลก เนื่องจากจะมีเทศกาลอีสเตอร์ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติจะนิยมเดินทางพักผ่อนในช่วงวันหยุดเทศกาลนี้ ประกอบกับเป็นเดือนมงคลของไทยที่จะมีเทศกาลสงกรานต์ และเป็นโค้งสุดท้ายของฤดูกาลท่องเที่ยว ภาคเอกชนจึงขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดทำแผนการตลาดเพื่อ “เปิดประเทศเต็มรูปแบบ” อย่างยิ่งใหญ่ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดและพื้นที่สื่อ

โดยขอให้ทางรัฐบาลทำการสื่อสารล่วงหน้าเพื่อให้บริษัทนำเที่ยวในประเทศต่างๆ จัดทำโปรแกรมกระตุ้นการขาย และเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เลือกเดินทางมาพักผ่อนที่ประเทศไทยเพื่อให้เรายังยืนหยัดเป็นผู้นำด้านการ ท่องเที่ยวของโลก ภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวขอสนับสนุนให้ท่านเดินหน้ายกเลิกมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ และพิจารณาประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นเพื่อให้คนไทยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้แบบปกติในเร็ววัน

 

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า คาดว่าในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่นายกฯเป็นประธาน วันที่ 23 ก.พ.นี้ อาจมีการพิจารณาปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศ หลังจากหลายๆ ประเทศผ่อนคลายมาตรการฯให้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ต้องขึ้นกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยด้วย โดยวานนี้ (17 ก.พ.) มียอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันพุ่งเป็น 1.7 หมื่นคน

“อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การระบาดในไทยดีขึ้น และมีการยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิด-19 นักท่องเที่ยวด้วยวิธี RT-PCR ทั้ง 2 ครั้งเมื่อเดินทางเข้าไทยภายในไตรมาส 2 ปีนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 10 ล้านคนในปีนี้ตามเป้าหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา”