BCPG ตั้งเป้า 5 ปี รายได้โตเท่าตัว พร้อมทุ่มงบ 9.5 หมื่นล้าน
“บีซีพีจี” ลุยแผน 5 ปี ลงทุน 9.5 หมื่นล้าน รุก 3 ธุรกิจหลัก “โรงไฟฟ้า - จัดการพลังงานอัจฉริยะ - สมาร์ทอินฟราสตรัคเจอร์” ดันรายได้โตเท่าตัว จากปีก่อนที่ 4.6 พันล้าน กำลังผลิตแตะ 2 พันเมกะวัตต์
นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG เปิดเผยว่า บริษัทกำหนดแผนกลยุทธ์ 5 ปี (2565-2670) จะเป็นไปในรูปแบบ “Running at Lightning Speed” โดยตั้งเป้า ธุรกิจจะขยายการเติบโตขึ้น 100% หรือเติบโตเท่าตัวจากปัจจุบัน ทั้งด้านรายได้ (ปี 2564 อยู่ที่ 4,668.8 ล้านบาท) และกำลังการผลิต (ปัจจุบันอยู่ที่ 1,108 เมกะวัตต์) โดยตั้งเป้ากำไร EBITDA เพิ่มขึ้น 35% จากการเติบโตของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
1. ธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 2. ธุรกิจบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy Solution) อาทิ ธุรกิจผลิต และจำหน่ายระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ แบตเตอรี่ ธุรกิจการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต และ 3. ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ (Smart Infrastructure) อาทิ ธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ให้สมบูรณ์ครบวงจรทั้งด้าน พลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ทั้งนี้ การดำเนินงานจะอยู่ภายใต้กลยุทธ์การดำเนินงาน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. การสร้างความสมดุลในการลงทุน ด้วยการขยายธุรกิจทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา 2. การสร้างโอกาสเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ 3. ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่า และ 4. ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ
“จากแผนดังกล่าวต้องใช้งบลงทุนถึง 95,000 ล้านบาท โดยบริษัท มีความพร้อมจากเงินลงทุนที่มีอยู่เดิม 65,000 ล้านบาท รวมกับเม็ดเงินที่จะได้รับจากการขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ในอินโดนีเซีย ทำให้มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 30,000 ล้านบาท เพียงพอสำหรับการลงทุนตามแผน”
ทั้งนี้ บริษัทได้ตกลงที่จะขายหุ้น Star Energy Group Holdings Pte. Ltd. (SEGHPL) ซึ่งดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนถือหุ้น33.33% ให้แก่ Springhead Holdings Pte Ltd. ในมูลค่า 14,600 ล้านบาท ในขณะที่โครงการมีมูลค่าทางบัญชี 12,295 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 คาดว่าจะรับรู้กำไรจากการขายหุ้นภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2565
สำหรับในปี 2565 บริษัทได้มีการตั้งงบลงทุนที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท และคาดรายได้โต 25% จากปีก่อน เนื่องจากจะมีการรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากการเปิดขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการต่างๆ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยาบูกิ และ โคมากาเนะ ในญี่ปุ่น กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์,
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวัน กำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์ และโครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Smart City) กำลังการผลิต 4.9 เมกะวัตต์ โดยจะมีการนำระบบกักเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี่ประเภทวานาเดียมรีดอกซ์โฟลว์ ที่พัฒนาในจีนไปทดลองใช้เป็น Pilot Project ในการบริหารจัดการพลังงานในโครงการสมาร์ทซิตี้
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีโครงการที่สามารถบรรลุข้อตกลงในการซื้อกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มเติม โดยตั้งเป้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ไต้หวัน ด้วยกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ใน 5 ปี ข้างหน้า ส่วนที่สปป.ลาวมีสิทธิในการร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมส่วนเพิ่มขนาด 1,000 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ คาดว่าจะมีรายได้จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ผ่านแพลตฟอร์ม Carbon Markets Club ซึ่งบีซีพีจีร่วมเป็นหนึ่งในผู้จัดตั้ง โดยที่ผ่านมามีรายได้จากการขายเครดิตในไทยแล้วราว 4 ล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตทั้งหมด 1,108 เมกะวัตต์ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว 345 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างพัฒนา 764 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ทั้งหมดภายในปี 2567
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์