“พลังงาน” เร่ง5แผนลดคาร์บอน สปีดลงทุน “อีวี-พลังงานหมุนเวียน”
ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมได้เริ่มลงทุนนำเทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการผลิตที่ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เช่น เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งนิยมใช้แพร่หลายในหลายประเทศ และเริ่มมีการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การผลักดันการลงทุน New S curve จะมองถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และประเทศไทยเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 350 ล้านตัน ส่วนใหญ่มาจากโรงงานภาคอุตสาหกรรม หากจะดูดซับคาร์บอน 1 ตัน จะต้องใช้เงิน 2,000 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยต้องสูญเสียเงิน 7-8 แสนล้านบาทต่อปี
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องประกาศนโยบายการลดคาร์บอน โดยประกาศเป้าหมายของแผนลดก๊าซคาร์บอนในปี 2575 ซึ่งจะถึงเป้าหมายหรือไม่นั้นแต่จะเป็นปีที่ทำให้เร็วที่สุด และอนาคตจะเห็นภาพการใช้พลังงานทั้งด้านอุตสาหกรรมและภาคประชาชน ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังส่งเสริม อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี) และใช้พลังงานสะอาด โดยจะมีการสร้างอีโคซิสเต็มของอีวี เช่น สถานีอัดประจุไฟฟ้า อุปกรณ์กักเก็บพลังงานงาน รวมทั้งส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาด เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์และลม
กวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้สรุปเทรนด์พลังงานที่จะเห็นมากขึ้นในปี 2565 คือ
1.ยานยนต์ไฟฟ้า โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ตามนโยบายเมื่อหมดสัญญาในการเช่าใช้โดยช่วงต้นอาจมีข้อจำกัดที่สถานีชาร์จในหน่วยงานก็อาจผ่อนให้เช่าใช้รถไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ใช้ทั้งระบบเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าก่อนเพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน และหลังจากนี้กระทรวงพลังงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะเร่งส่งเสริมพัฒนาสถานีชาร์จมากขึ้น
ทั้งนี้ กฟผ.ได้ปรับการใช้รถอีวีในองค์กรมาระยะหนึ่ง โดยตั้งเป้าทำสัญญาเช่ารถใหม่เป็นอีวีทั้งหมดจึงเป็นการนำร่องที่ดีและมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมโดยเฉพาะสถานี ดังนั้น หัวใจหลัก คือ ความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ถือเป็นเรื่องที่เปลี่ยนประเทศ มองว่าหน่วยงานภายใต้รัฐบาลก็ควรมีสถานีชาร์จอีวีครอบคลุม
“มีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานที่มีศูนย์บริการครอบคลุมทั่วประเทศมีแนวคิดติดตั้งสถานีชาร์จอีวีในศูนย์บริการ อาทิ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ก็มีแนวคิดเช่นกัน จึงมองว่า หากภาพรวมการใช้รถอีวีมีมากขึ้น จะทำให้เอกชนกล้าลงทุนด้วย ดังนั้น จะเร่งทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan 2022) ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน”
2.เทคโนโลยี โดยทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต่างมุ่งเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการลดต้นทุนในด้านต่างๆ เป็นต้น ซึ่งในกลุ่มพลังงานจะเห็นภาพชัดเจนในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และบรรลุ Net Zero ปี 2065 จากเวที COP26
3.พลังงานหมุนเวียน (RE) จะเริ่มเข้ามามากขึ้น การจะปรับให้ประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาดเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเช่นกัน และอยู่ที่ว่าจะปรับตัวและรู้ทันเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้หรือไม่ ดังนั้น ทุกคนจะต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
“ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมได้เริ่มลงทุนนำเทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการผลิตที่ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เช่น เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน หรือ CCUS ซึ่งนิยมใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศมาก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นอีกแนวทางในการไปสู่คาร์บอนเครดิต”
นอกจากนี้ หากพูดถึงพระเอกของพลังงานสะอาดนั้น คงหนีไม่พ้นพลังงานแสงอาทิตย์กับพลังงานลม เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกลง และอนาคตจะถูกกว่าพลังงานที่ได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิลแน่นอน จึงอยากให้เข้าใจในประเด็นที่ว่าพลังงานหมุนเวียนมีภาระค่า Ft ส่วนตัวมองว่าเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด โดยปัจจุบันหลายประเทศสามารถทำพลังงานสะอาดได้ในราคาที่ถูก
4.โซลาร์ภาคประชาชน ประเทศไทยพยายามผลักดันให้เกิด แต่กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ดังนั้น โจทย์สำคัญที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องตีโจทย์ให้แตกว่า การที่ส่งเสริมแล้วทำไมประชาชนถึงยังไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควร ทั้งๆที่มีประโยชน์ ดังนั้น จึงควรต้องกลับมาดูที่ระบบเอง เพราะต้นทุนโซลาร์ปัจจุบันอยู่ที่ 1 บาทกว่าๆ และพลังงานรับซื้อในราคา 2 บาทกว่า
“ส่วนตัวมองว่าประชาชนอยากติด แต่ปัญหาน่าจะอยู่ที่กฎระเบียบ เพราะหากขั้นตอนการขอติดตั้งยุ่งยาก ทั้งเงื่อนไขของการไฟฟ้าฯ และในเรื่องของโครงข่าย ประชาชนไม่อยากทำอะไร ดังนั้น จึงต้องกลับไปดูกติกาว่าส่งเสริมหรือไม่ บางทีบอกราคาอย่างเดียวก็ไม่น่าดึงดูดพอ”
5.โรงไฟฟ้าชุมชน สมัยก่อนการจะเกิดโรงไฟฟ้ามักจะเกิดการต่อต้าน ซึ่งขณะนี้ เมื่อมีการลงไปในชุมชน มีการอธิบายข้อดีโดยเฉพาะช่วยในเรื่องของการปลูกพืชช่วยราคาเกษตรกร ประชาชนเห็นประโยชน์ที่จับต้องได้ จึงอยากทำเยอะขึ้น โดยในปีนี้ จะเห็นแผนงานและภาพชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ได้เป็นห่วงและอยากเห็นภาพความสำเร็จของโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องเฟสแรก 150 เมกะวัตต์ ก่อนว่ามีระบบจัดการอย่างไร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามซึ่งโดยรวมแล้วถือว่าไปในทิศทางที่ดี จึงให้เร่งดำเนินการทำแผนโรงไฟฟ้าชุมชนเฟส2 จำนวน 400 เมกะวัตต์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ ยังมีคนพยายามพูดว่ารัฐบาลสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน และจะรับซื้อไฟใหม่เข้าระบบทำไม อีกทั้งยังมีราคารับซื้อที่แพง จึงอยากจะฝากคิดว่าภารกิจขณะนี้จะต้องมุ่งสู่ Net Zero และไฟฟ้าของประเทศไทยปัจจุบันมีพลังงานสะอาดอยู่ในระบบที่ยังน้อยมาก และต่ำกว่าเป้าที่คาดหวัง
ดังนั้น หากไม่รับซื้อไฟใหม่ที่เป็นไฟสะอาดแล้วประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไรในการนำเอาไฟสะอาดเข้ามาเร็วที่สุด ขณะเดียวกันก็จะต้องจัดการต้นทุนของค่าไฟฟ้าให้ประชาชนไม่ให้รับภาระเยอะ
ขณะนี้นักลงทุนต่างประเทศ กลุ่มเทคคอมพานีรายใหญ่ อาทิ กูเกิล ไมโครซอฟท์ ประกาศเป้าปี 2568 จะใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด เมื่อมาทำธุรกิจที่ประเทศไทยจะมุ่งไปที่มีพลังงานสะอาดให้ใช้หรือไม่ ดังนั้น เพื่อดึงดูดนักลงทุนจึงต้องรีบทำ ซึ่งหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อจัดการกับต้นทุนที่ซ้ำซ้อน ซึ่งการนำนวัตกรรมทางด้านการเงิน การระดมทุนที่มีรูปแบบใหม่ๆ จะเป็นตัวช่วยให้ต้นทุนถูกลง
“หากไฟสะอาดในไทยมีจำนวนมากพอก็หยุดรับซื้อได้ แต่ปริมาณที่เยอะยังเป็นไฟที่สกปรก และเราตอบโจทย์ความต้องการใหม่หรือยัง เราจะบาลานซ์ตรงนี้อย่างไรนั่นสิสำคัญ หากหยุดรับซื้อไฟต่อไป 5-10 ปีข้างหน้าแล้วไม่มีไฟสะอาดเข้ามาไทยก็จะตกขบวน”