"น้ำมันแพง” กดดันภาคขนส่ง คมนาคมเฟ้นแผนจูงใจใช้อีวี
ขบ.ชี้ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะเริ่มตื่นตัวปรับใช้รถพลังงานไฟฟ้า หลังต้นทุนเชื้อเพลิงเป็นแรงกดดัน เดินหน้าศึกษามาตรการจูงใจ ปิ๊งไอเดียลดการจัดเก็บภาษีประจำปีแบบขั้นบันได ปล่อยมลพิษน้อยจ่ายน้อย
“การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน” กำลังปรากฎภาพเด่นชัดมากขึ้นในรูปแบบการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรืออีวี ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการพิจารณาอนุมัติมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการผลักดันการใช้พลังงานทางเลือกใจภาคขนส่ง
จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยถึงนโยบายการสนับสนุนภาคขนส่งสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังพลังงานทางเลือก โดยระบุว่า สถิติการจดทะเบียนใหม่ชนิดพลังงานไฟฟ้า ขณะนี้มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2564 มีจำนวนรวม 5,889 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 2,999 คัน โดยแบ่งเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล 5,768 คัน รถโดยสาร 119 คัน และรถบรรทุก 2 คัน
อย่างไรก็ดี ในปีดังกล่าวการจดทะเบียนรถใหม่พลังงานไฟฟ้า สิ่งที่สะท้อนถึงการตื่นตัวอย่างเห็นได้ชัด คือ กลุ่มผู้ประกอบการภาคขนส่งสาธารณะ ที่ปรับเปลี่ยนรถโดยสารจากเชื้อเพลิงน้ำมันเป็นพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 119 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มียอดจดทะเบียนรถใหม่ชนิดเชื้อเพลิงไฟฟ้า 2 คัน
โดยการปรับเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงเพื่อนำมาให้บริการรถโดยสารสาธารณะนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากปัจจัยราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนเชื้อเพลิงที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ ขณะเดียวกันยังไม่สามารถปรับเพิ่มอัตราค่าโดยสารได้ ทำให้ผู้ประกอบการรถขนส่งสาธารณะเริ่มตื่นตัวกับการใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าเพื่อประหยัดต้นทุน และพบว่ามีรายได้เหลือจากการหักลบต้นทุนมากขึ้น
“ผู้ประกอบการรถสาธารณะตื่นตัวกับการใช้รถอีวีอย่างเห็นได้ชัด ซึ่ง ขบ.เราก็สนับสนุนเรื่องนี้มาตลอด เชื้อเพลิงไฟฟ้าเป็นพลังงานทางเลือกที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนต่ำ และมีเงินเหลือมากขึ้น โดยปัจจุบันเรามีมาตรการจูงใจเรื่องของส่วนลดภาษีประจำปี 50% อยู่แล้ว และกำลังศึกษามาตรการใหม่ที่จะจูงใจมากขึ้น โดยจะเก็บภาษีประจำปีให้ต่ำมากขึ้นสำหรับรถอีวี”
จิรุตม์ กล่าวด้วยว่า มาตรการจูงใจอันใหม่ที่ ขบ.กำลังศึกษานั้น จะเป็นลักษณะของส่วนลดการจัดเก็บภาษีประจำปีแบบขั้นบันได โดยจากเดิมที่รถยนต์ใช้เชื้อเพลิงประเภทพลังงานไฟฟ้าจะได้รับส่วนลดภาษีประจำปี 50% ตามมาตรการใหม่นี้จะได้ส่วนลดมากกว่าเดิมในอัตรา 0 – 20% เช่น รถยนต์ที่สามารถลดมลพิษได้มากจะได้ลดภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิม อาจเหลือจ่ายเพียง 20% หรือหากรถยนต์คันใดไม่ปล่อยมลพิษ จะได้รับการยกเว้นภาษีประจำปี เป็นต้น
ทั้งนี้ มาตรการจูงใจการใช้เชื้อเพลิงพลังงานนี้ ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา ซึ่ง ขบ.คาดการณ์ว่าจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาในเร็วๆ นี้ เพื่อให้สอดคล้องไปกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนให้มีการลดใช้พลังงานทางเลือกมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะลดต้นทุนการขนส่งแล้ว ยังช่วยลดมลพิษทางอากาศ
สำหรับอัตราภาษีรถประจำปีสำหรับรถพลังงานสะอาด ขบ.กำหนดดังนี้ รถที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้า หากเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง จะเก็บภาษีตามน้ำหนักของรถในอัตราเดียวกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน ซึ่งจะน้อยกว่าอัตราภาษีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่งที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
ส่วนรถตู้ รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ รวมไปถึงรถบดถนน รถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการเกษตร และรถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัดที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จัดเก็บภาษีในอัตรากึ่งหนึ่งของรถประเภทเดียวกันที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เช่น รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เสียภาษีประจำปีคันละ 100 บาท ในขณะที่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้พลังงานขับเคลื่อนจากไฟฟ้าจะเสียภาษีประจำปีคันละ 50 บาท เท่านั้น
ในส่วนของรายละเอียดการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า มีข้อกำหนดการตรวจสอบ อาทิ รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร รถยนต์บริการให้เช่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง ที่ขับเคลื่อน ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 กิโลวัตต์ และสามารถขับเคลื่อนรถให้มีความเร็วสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ขณะที่รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนแบบพิเศษที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 100 กิโลวัตต์ เป็นต้น
จากความพยายามเพื่อกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น จะนำไปสู่การเคลื่อนตัวทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้ใช้ในแง่การประหยัดหลังราคาพลังงานพุ่งไม่หยุด และสิ่งแวดล้อมที่พลังงานไฟฟ้าคือทางออกลดปัญหาโลกร้อนได้อย่างหนึ่ง