สมรภูมิ “รัสเซีย-ยูเครน" ส่งผลอย่างไรกับ “ราคาพลังงาน” และเศรษฐกิจโลก ?
สถานการณ์ตึงเครียดระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” ที่โลกกำลังจับตามอง โดยเฉพาะความกังวลถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เมื่อ “รัสเซีย” คือหนึ่งในผู้เล่นสำคัญในตลาด “น้ำมัน” และ “ก๊าซธรรมชาติ” ของโลก
ล่วงเข้าปี 2022 ได้เพียงเดือนกว่า สมรภูมิ “รัสเซีย-ยูเครน” ก็ทำท่าจะปะทุรุนแรงหนักขึ้น ส่อแววสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลก โดยราคาน้ำมันได้ทะลุเกิน 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และจะพุ่งสูงแตะระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่ทุบสถิติสูงสุดตลอดกาล
ก่อนหน้านี้ Bloomberg Economics ได้วิเคราะห์ไว้ว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะเป็นชนวนให้เศรษฐกิจโลกอาจไม่ได้ฟื้นตัวและเติบโตอย่างราบรื่นเท่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ เนื่องจากสถานการณ์จากปัจจัยความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ
- ความสำคัญของสมรภูมิ “รัสเซีย-ยูเครน” ต่อราคาพลังงานโลก
สมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน นับเป็นพื้นที่ที่สำคัญต่อประเทศในทวีปยุโรป เนื่องด้วยประเทศแถบนี้มีการพึ่งพิงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ทำให้ความขัดแย้งในครั้งนี้มีผลให้เกิดความเสี่ยงที่ซัพพลายพลังงานในตลาดโลกจะลดลง ก่อผลกระทบให้กับหลายประเทศทั่วโลก
ความเสี่ยงที่จะทำให้ซับพลายพลังงานลดลง เกิดขึ้นเนื่องมาจากสัดส่วนการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย ส่วนใหญ่แล้วเป็นการส่งออกไปยังทวีปยุโรป โดยเฉพาะประเทศกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ในยุโรป ซึ่งประเด็นที่สำคัญคือ การขนส่งพลังงานไปประเทศเหล่านั้นต้องส่งลงท่อที่ผ่านประเทศยูเครน ฉะนั้น เมื่อทั้งสองประเทศส่อแววที่จะก่อสงครามกัน จึงมีผลให้ยุโรปที่พึ่งพาแหล่งพลังงานจากรัสเซียได้รับผลกระทบไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดวงไว้เพียงประเทศในทวีปยุโรป เนื่องด้วยซัพพลายพลังงานที่ลดลงในยุโรป ไม่ต่างอะไรกับการที่ปริมาณซัพพลายพลังงานโดยรวมลดลง ทำให้ราคาพลังงานทุกประเภททั่วโลกดีดตัวขึ้นสูงตามไปด้วย
นอกจากนี้ ไม่เพียงแค่ประเทศในยุโรปเท่านั้นที่พึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ยังมีประเทศจากเอเชีย อาทิ จีน ที่เป็นผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซีย และรัสเซียยังถือเป็นประเทศผู้ค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลกอีกด้วย
- “น้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ” จากรัสเซียสำคัญแค่ไหนในตลาดโลก
ความสำคัญของรัสเซียนั้นไม่เพียงแต่เป็นประเทศมหาอำนาจทางการเมือง แต่ยังคงเป็นหนึ่งในผู้กุมระดับราคาพลังงานของตลาดโลกอีกด้วย จากการเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก
ในปี 2563 รัสเซียมีปริมาณการผลิตน้ำมันมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ราว 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นรองเพียงสหรัฐ และซาอุดิอาระเบียที่ผลิตได้ 18.6 และ 10.86 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายสำคัญ โดยส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ที่ 4.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 11% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด
ประเทศปลายทางการส่งออกน้ำมันของรัสเซียนั้นกระจายตัวตามทวีปต่างๆ โดยกลุ่มประเทศ OECD ในยุโรปครองสัดส่วนการส่งออกของรัสเซียที่ 48% ถือเป็นกลุ่มผู้ซื้อรายสำคัญของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม หากเทียบเป็นรายประเทศ พบว่า "จีน" คือประเทศผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซีย โดยจีนเป็นลูกค้าที่ซื้อน้ำมันราว 31% จากปริมาณส่งออกทั้งหมดของรัสเซีย
แม้กระทั่ง ประเทศคู่ปรับอย่าง “สหรัฐ” ก็ยังเป็นลูกค้าของรัสเซียเช่นเดียวกัน แต่มีสัดส่วนที่ต่ำเพียง 1% ในปริมาณการส่งออกทั้งหมดของรัสเซีย
ในส่วนของ “ก๊าซธรรมชาติ” รัสเซียก็ถือเป็นผู้เล่นคนสำคัญของตลาดโลกด้วยเช่นกัน โดยในปี 2563 มีการผลิตสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกที่ 6.39 แสนล้านลูกบาศก์เมตร เป็นรองเพียงสหรัฐเท่านั้น แต่ถ้าดูที่ปริมาณการส่งออกแล้ว พบว่า รัสเซียเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติอันดับ 1 ของโลก ด้วยปริมาณที่สูงถึง 2.38 แสนล้านลูกบาศก์เมตร
เช่นกันกับการส่งออกน้ำมัน คือ ประเทศปลายทางการส่งออกก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของรัสเซีย ยังคงเป็น กลุ่มประเทศ OECD ในยุโรป โดยครองสัดส่วนสูงถึง 72% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดจากรัสเซีย รวมแล้วทั้งปี 2563 รัสเซียมีรายได้จากการส่งออกทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในปี 2563 สูงถึง 97,000 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ รัสเซียยังเป็นประเทศที่มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก และมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่อันดับ 8 ของโลก จากทั้งหมดนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่า แหล่งพลังงานจากรัสเซียมีความสำคัญในตลาดโลก
หากปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติถูกส่งออกมาน้อยลง จะมีผลให้ซัพพลายในตลาดโลกลดลง นำมาซึ่งราคาพลังงานและค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยทาง เจพี มอร์แกน (JPMorgan) ได้เผยว่า สมรภูมิรัสเซีย-ยูเครนอาจทำราคาน้ำมันดีดตัวแตะระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะดันระดับเงินเฟ้อโลกในครึ่งปีแรกให้สูงถึง 7.2% ฉะนั้น “วิกฤติยูเครน” จึงกลายเป็นความเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่งของโลกในช่วงต้นปี 2565 นี้
-----------------------------------------------------
อ้างอิง
bp Statistical Review of World Energy 2021