หนี้ครัวเรือนไทย..ความระทมทุกข์ที่รอการแก้ไข (นานมาก) (1)
เมื่อรัฐบาลประกาศให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน” แสดงความตั้งใจแก้ไขอย่างยั่งยืน โดยการจัดการกับก้อนหนี้ในปัจจุบันและชะลอการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต ความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะหน้าคือการแก้ไขหนี้ปัจจุบัน เพื่อให้ครัวเรือนที่มีหนี้สินเกินตัวสามารถไปต่อได้
รัฐบาลประกาศให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน” โดยแสดงความตั้งใจที่จะแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยการจัดการกับก้อนหนี้ในปัจจุบันและชะลอการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต โดยความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะหน้าคือการแก้ไขหนี้ปัจจุบัน เพื่อให้ครัวเรือนที่มีหนี้สินเกินตัวสามารถไปต่อได้
ผมได้เขียนบทความในกรุงเทพธุรกิจ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 เรื่อง “หนี้ครัวเรือนไทย ระเบิดเวลาลูกใหญ่ของเศรษฐกิจไทย” โดยมีข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 4/2561 จำนวน 12.827 ล้านล้านบาท คิดเป็น 78.6% ต่อ GDP และคาดว่าจะเกิน 80% ในปี 2562 หนี้ครัวเรือนไทยขยายตัว 6% สูงกว่าการขยายตัวของ GDP ที่ 5.6%
โดยได้นำเสนอข้อมูลจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ “ป๋วย อึ้งภากรณ์” ที่เผยแพร่ในเดือน พฤษภาคม 2562 ที่ระบุถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขหนี้ครัวเรือนไทยไว้อย่างละเอียด และได้ฝากถึงรัฐบาลว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไข ควบคู่กับมาตรการด้านเศรษฐกิจ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ผ่านมาเกือบ 3 ปี สถานการณ์หนี้ครัวเรือนเรือนไทยดูเหมือนจะเลวร้ายกว่าเดิมข้อมูลล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ณ ไตรมาส 3/2564 ครัวเรือนไทยมีหนี้สินทั้งสิ้น 14.34 ล้านบาท คิดเป็น 89.3% ต่อ GDP ธปท. ยังพบว่า คนไทยเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย กลุ่มที่เป็นหนี้มากที่สุด คือวัยเริ่มทำงาน อายุ 25-35 ปี กว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30 ปี มีหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคและหนี้บัตรเครดิต และยิ่งแก่ตัวไปหนี้ยังท่วมหัวเอาตัวแทบไม่รอด คนไทยอายุ 60-69 ปี มีหนี้เฉลี่ย 453,438 บาท/คน อายุ 70-79 ปี มีหนี้เฉลี่ย 287,932 บาท/คน
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ EIC ประเมินว่า การขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนจากระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ชะลอลงในทุกหมวดสินเชื่อสำคัญ อย่างไรก็ดี สินเชื่อส่วนบุคคลยังคงขยายตัวในระดับสูงตามความต้องการสภาพคล่องเพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลงที่ยังมีมาก ปัญหาหนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเร่งตัวสูง จากกลุ่มครัวเรือนที่มีความต้องการสินเชื่อเพื่อนำมาใช้จ่ายแต่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว จึงมีการกู้เงินนอกระบบมาใช้
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ EIC ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส Omicron ที่จะกระทบรายได้ครัวเรือนและทำให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อทดแทนสภาพคล่องกลับมาเพิ่มสูงอีกครั้ง และได้ประเมินว่า ภายใต้สมมติฐาน Real GDP ปีนี้ ขยายตัวที่ 0.7% สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 2565 จะสูงถึง 90-92%
จากข้อมูลของ Bank for international Settlement ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงที่สุดปัจจุบันการขยายตัวของหนี้ครัวเรือน มาจากให้ผู้กู้ยืมหลักคือ ธนาคารพาณิชย์สหกรณ์ออมทรัพย์ และบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล ปัญหาหนี้ครัวเรือน
นอกจากในเชิงปริมาณจะมีมาก ยังมีปัญหาเชิงคุณภาพ มีหนี้เสียเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะหนี้ในกลุ่มบัตรเครดิต และหนี้ในกลุ่มประชากรอายุน้อย หนี้เสียจากบัตรเครดิตราว 1 ใน 3 เป็นของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี สอดคล้องกับข้อมูลจากเครดิตบูโร ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนในฐานข้อมูลเครดิตบูโรอยู่ที่ 12.4 ล้านล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ 31 ล้านคน จากสถิติพบว่าลูกหนี้ 100 คน มีหนี้เสีย 18 คน และหากเจาะลึกในกลุ่มลูกหนี้ที่อายุ 30-34 ปี พบว่าใน 100 คน มีหนี้เสียมากถึง 24 คน
ความรุนแรงของปัญหาหนี้ครัวเรือนพบว่า มีมากในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจากการสำรวจของ EIC ระหว่าง 27 ส.ค.-27 ก.ย.2564 ระบุว่า 78% ของผู้ที่มีรายไดน้อยกว่า 15,000 บาท ต่อเดือน และมีหนี้ ประเมินว่า ตนเองเป็นผู้มีปัญหาภาระหนี้ และ 27.4% ของผู้มีรายได้น้อยที่ระบุตนมีปัญหาภาระหนี้หนักประสบการณ์จากการทำงานแบงก์นานเกือบ 40 ปี เริ่มจากการเป็นเสมียนสินเชื่อปล่อยสินเชื่อให้กับเกตรกรในต่างจังหวัดรายแรกแค่ 2,000 บาท จนย้ายเข้ามานั่งทำงานในกรุงเทพดูและสินเชื่อหลายแสนล้านบาท ยามเศรษฐกิจตกต่ำ พบว่าหนี้ทำให้เกิดทุกข์ทั้งคนปล่อยเงินกู้และคนกู้ นอนไม่ค่อยหลับ พองีบหลับก็ฝันร้าย
ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่อยู่นอกระบบของคนจนหาเช้ากินค่ำยังมีอีกมาก หนี้ครัวเรือนไทย อาจจะสูงเกิน 100% ต่อ GDP ไปแล้ว ข่าวการฆ่าตัวตาย เพราะหาเงินใช้หนี้ไม่ได้ ข่าวการติดตามหนี้นอกระบบที่โหดร้ายรุนแรงเป็นเรื่องน่าห่วงใย เป็นความระทมทุกข์ที่จะก่อให้เกิดปัญหาสังคมอีกมากมาย เห็นแล้วอยากร้องไห้......