CHAYO จับมือพันธมิตรโต ดันพอร์ตธุรกิจซื้อหนี้แตะ “แสนล้าน”
"ชโย" ลุยจับมือแบงก์จัดตั้ง "เอเอ็มซี" แย้มกำลังเจรจา 3 ธนาคารใหญ่ คาดปิดดีลแรกไตรมาส 1 ปี 65 คาดพอร์ตบริหารหนี้ด้อยคุณภาพปีนี้แตะ “แสนล้าน” ถือเป็นพอร์ตสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้ง
พลันที !! ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์ และ ธุรกิจบริหารหนี้เสีย (AMC) จับมือเป็นพันธมิตรร่วมทุน (JV) เพื่อแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หลังจากสถานการณ์ “หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้” (NPL) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจาก “ลูกหนี้” ที่ในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ดังนั้น หากมาตรการของธปท. หมดลง...อาจจะมีโอกาสเห็นลูกหนี้กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นในระดับก้าวกระโดด
“สุขสันต์ ยศะสินธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า บริษัทวางแผนธุรกิจปี 2565 ตั้งเป้ามี “พอร์ตซื้อหนี้ด้อยคุณภาพบริหารคงค้าง” แตะระดับ “แสนล้านบาท” เป็นครั้งแรกและถือเป็นพอร์ตสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่บริษัทก่อตั้งมา โดยปี 2564 คาดพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพบริหารคงค้างอยู่ที่ 75,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้ที่มีหลักประกันประมาณ 75% และหนี้ที่ไม่มีหลักประกันราว 25%
สำหรับ ปี 2565 บริษัทตั้งงบลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหาร 2,500-3,000 ล้านบาท จากปีก่อน 2,000 ล้านบาท ตั้งเป้ารายได้ปี 2565 เติบโต 25% จากปีก่อน และตั้งเป้ารายได้ช่วง 3 ปี (2565-2567) เติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20-25% ต่อปี
และหนึ่งในปัจจัยบวกที่จะผลักดันให้พอร์ตรวมซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเติบโตมาจาก “ธุรกิจซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ” สะท้อนผ่านแผนการลงทุนธุรกิจใน 3 ส่วน นั่นคือ 1.การลงทุนของบริษัท โดยการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารทั้งหนี้ที่มีหลักประกัน และไม่มีหลักประกัน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นรายย่อย (รีเทล) และลูกค้า SME
2.การร่วมทุน (JV) ธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ซึ่งปัจจุบันบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับ “3 ธนาคารพาณิชย์ไทย” เพื่อร่วมทุนจัดตั้ง “บริษัทบริหารสินทรัพย์” (AMC) ในอนาคต โดยแบ่งเป็นแบงก์เอกชนจำนวน 2 รายใหญ่ และ แบงก์รัฐจำนวน 1 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุป 1 รายภายในไตมาส 1 ปี 2565 หลังจากที่ผ่านมาบริษัทเจรจากับแบงก์เอกชนจบไปแล้ว 1 ราย
โดยกระบวกการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน AMC ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน เพราะต้องศึกษาแนวทางการร่วมทุนในหลายรูปแบบ เงินลงทุนต้องมูลค่าระดับไหน ดังนั้น ระหว่างการศึกษาร่วมทุน (JV) ความร่วมมือเบื้องต้นระหว่างบริษัทกับแบงก์จะเป็นรูปแบบการลงนามสัญญาร่วมกัน (MOU) ในการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพให้ก่อน โดยแบงก์แรกที่บริษัทมีความร่วมมือด้วยนั้น ได้ส่งหนี้ด้อยคุณภาพให้บริษัทดำเนินการแล้ว ในมูลค่าระดับ 100 ล้านบาท
“การร่วมทุนกับแบงก์ บริษัทจะซื้อหนี้ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันเฉพาะที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพของแบงก์ที่บริษัทร่วมทุน JV ด้วยเท่านั้น”
และ 3.บริษัท บริหารสินทรัพย์ชโย เจวี จำกัด (Chayo JV) โดย CHAYO ถือหุ้นใน Chayo JV คิดเป็นสัดส่วน 55% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด โดยในปี 2565 “ชโย เจวี” ตั้งเป้าลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ มูลค่า 1,500 ล้านบาท โดยจะเป็นการซื้อหนี้ที่มีหลักประกันเท่านั้น (บ้าน , อาคารพาณิชย์ , ที่ดิน) เนื่องจากกลุ่มพันธมิตรไม่ถนัดในธุรกิจซื้อหนี้ไม่มีหลักประกัน ดังนั้น กลุ่มลูกค้าหลักๆ จะเป็นการซื้อหนี้ขององค์กร (บริษัท) โดย ชโย เจวี สามารถซื้อหนี้เข้ามาบริหารได้ในไตรมาส 3 ปี 2564 และสามารถสร้างรายได้ทันทีในไตรมาส 4 ปี 64
นอกจากความร่วมมือในธุรกิจ AMC แล้ว บริษัทยังมีความร่วมมือในรูปแบบอื่นๆ กับพันธมิตร อย่าง บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าไอที ประเภทคอมพิวเตอร์แล็บท็อป คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต สินค้า IT โดยบริษัทมีการซื้อสินค้าไอทีของ COM7 เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อให้นักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีความต้องการสินค้าดังกล่าว โดยบริษัทจะมีการคุยกับทางมหาวิทยาลัยก่อน โดยในปีนี้คาดว่าจะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอีก 30 แห่ง รวมทั้ง COM7 ให้บริษัทเป็นผู้ทำธุรกิจเร่งรัดหนี้สินให้อีกด้วย
ขณะที่ความร่วมมือ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD โดย JWD ให้บริษัทหาที่ดินเปล่าให้เพื่อมาต่อยอดธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อ บริษัท เบญจพรแลนด์ ผู้พัฒนาที่ดิน คลังสินค้า และ อสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจโลจิสติกส์ ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งสินทรัพย์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ในราคาที่สามารถแข่งขันได้
ขณะที่ “ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ” ภายใต้ บริษัท ชโย แคปปิตอล จำกัด ซึ่งปล่อยสินเชื่อทั้งมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน อย่าง สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance) และ สินเชื่อเพอร์ซันนัลโลน และอื่น ๆ ปี 2565 บริษัทตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อแตะระดับ “1,000 ล้านบาท” เป็นครั้งแรกปโตถึง “5 เท่าตัว" จากปี2564 โดยมียอดปล่อยสินเชื่อ 350 ล้านบาท
ดังนั้น ในแผนธุรกิจของบริษัทเตรียมจะผลักดันธุรกิจปล่อยสินเชื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Mai) ในปี 2566 และคาดปีนี้หาที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพื่อเตรียมยื่นไฟลิ่งต่อไป
สำหรับ “ธุรกิจติดตามและเร่งรัดหนี้” ปี 2564 คาดหดตัว 20% แต่ในปีนี้ตั้งเป้าจะกลับมาเติบโต 10% จากปีก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แบงก์ชาติมีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยประชาชน แต่คาดว่าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายธุรกิจติดตามและเร่งรัดหนี้จะกลับสู่ภาวะปกติ
ขณะที่ “ธุรกิจขายของออนไลน์” (Online) ภายใต้ บริษัท 555 ช้อปปิ้ง จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจการขายสินค้าผ่าน Call Center หรือ TV Shopping หรือ ช่องทางออนไลน์ ปัจจุบันบริษัทหยุดการลงทุนไปก่อน หลังต้นทุนการดำเนินธุรกิจยังสูง เนื่องจากบริษัทมีสินค้ายังไม่มาก แต่คาดหากมีโปรเจกที่ดีกับพันธมิตรก็พร้อมที่จะกลับมาดำเนินงานต่อ ซึ่งปัจจุบันกำลังคุยกับพันธมิตร อย่าง กลุ่มของเครือสหพัฒน์ ที่มีสินค้าเครื่องสำอางแบรนด์ Tellme มาจำหน่ายช่องทางออนไลน์ของบริษัทในอนาคตอีกด้วย
ท้ายสุด “สุขสันต์” บอกไว้ว่า การมีหลากหลายพันธมิตรธุรกิจรวมกันนั้น ในแง่ของธุรกิจยังจะช่วยสนับสนุนการเติบโตต่อเนื่อง อย่างมั่นคง และทำให้หุ้น CHAYO เป็นหุ้น Growth Stock พื้นฐานที่ดี รวมทั้งมีสตอรี่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และอนาคตสร้างการเติบโตโดดเด่นอีกด้วย