รัฐเร่งแก้ดัชนีคอร์รัปชันไทยตกต่ำเข้ม เกณฑ์เบิกจ่าย - ดูแลนักลงทุน 

รัฐเร่งแก้ดัชนีคอร์รัปชันไทยตกต่ำเข้ม เกณฑ์เบิกจ่าย - ดูแลนักลงทุน 

ดัชนีการรับรู้การทุจริต(Corruption Perception Index) หรือ “CPI” ถือเป็นดัชนีที่นักธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติ ใช้ในการประเมินความน่าสนใจของการลงทุนของแต่ละประเทศโดย “การทุจริต” เป็นหนึ่งในปัจจัยเข้ามาประกอบธุรกิจ

ในทุกๆ ปี องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ(Transparency International) จะมีการประกาศอันดับ CPI ทั่วโลก โดยจัดอันดับ จากคะแนนผลสำรวจประเทศสมาชิกที่มี 180 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่ได้คะแนนสูงจะได้รับการจัดอันดับที่สูงและประเทศที่ได้คะแนน CPI ต่ำจะได้อันดับที่ต่ำลงซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติด้วย 

ล่าสุดองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้ประกาศผล CPI ปี 2564  โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้คะแนน CPI 35 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยอันดับลดต่ำลงจากในปี 2563 ที่ได้ 36 คะแนน อยู่ที่อันดับ 104 ของโลก หรืออันดับคอร์รัปชันลดลง 4 อันดับจากปี 2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ครม.ได้รับทราบรายงานผลการวิเคราะห์ผลคะแนน  CPI ที่ตกต่ำลงของประเทศไทย โดยศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นหน่วยงานหลักในการนำเสนอแนวทางการแก้ไขให้กับ ครม.รับทราบและทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อแก้ไขในเรื่องภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ในรายงานการวิเคราะห์ของ ป.ป.ท.ระบุว่า การที่ประเทศไทยได้คะแนนในระดับต่ำที่เพียง 35-38 คะแนน จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของศักยภาพของประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนจากนานาชาติ และสะท้อนถึงความไม่โปร่งใส ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

ทั้งนี้ ครม.ได้เห็นชอบแนวทาง ป.ป.ท.ในการตรวจสอบการทุจริตในหน่วยงานรัฐ ที่มีข้อเสนอว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 ได้วางกรอบการดำเนินการปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มี 4 แนวทางได้แก่ 1.ให้หน่วยรับงบประมาณที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในรายการในงบลงทุน วงเงินตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องจัดทำการประเมินความเสี่ยงการทุจริตของโครงการพร้อมเสนอมาตรการในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม ยื่นต่อสำนักงบประมาณพร้อมคำขอรับงบประมาณด้วย

และมอบหมายให้สำนักงบประมาณ จะต้องพิจารณาแผนบริหารความเสี่ยง เพื่อประกอบการจัดสรรงบประมาณ รวมทั้ง ให้สำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบ (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) ตรวจสอบภายในหน่วยงาน) ดำเนินการตรวจติดตามการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ และหน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนิน โครงการตามมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงการทุจริต

ส่งรายงานผลการตรวจสอบติดตามมายังสำนักงาน ป.ป.ช. และให้รายงานไปยังศูนย์อำนวยการต่อต้านการศอตช. ตามขั้นตอน

รัฐเร่งแก้ดัชนีคอร์รัปชันไทยตกต่ำเข้ม เกณฑ์เบิกจ่าย - ดูแลนักลงทุน 

นอกจากนี้ ป.ป.ท.เห็นควรที่รัฐบาลรับเอาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบ และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา (ส.ว.) มาใช้ โดยได้มีข้อเสนอแนะ ในการยกระดับ CPI ระหว่างปี 2565 -2573 จำนวน 4 ด้าน 10 มาตรการ ดังนี้

1.ลดอุปสรรคและพัฒนาการอำนวยความสะดวกในการให้บริการภาครัฐเพื่อเอื้อต่อการค้า การลงทุน โดยจัดทำแผนปรับปรุง และยกระดับการให้บริการภาครัฐของส่วนราชการ ในกระบวนงานการประกอบกิจการในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกและรับเรื่องร้องเรียนสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติ การประกาศความสำเร็จของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558

2.การเปิดเผยข้อมูลตามหลักสากล เพื่อการเฝ้าระวังและลดโอกาสการทุจริต โดยเปิดเผยกระบวนการงบประมาณตามหลักสากล พัฒนาระบบการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวัง ลดโอกาสการทุจริต

3.สร้างการรับรู้เชิงรุกที่เชื่อมโยงถึง Partner Institute ที่จัดส่งข้อมูลให้กับ แหล่งการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI โดยการสร้างการรับรู้เชื่อมโยงถึงหน่วยงานที่จัดส่งข้อมูลให้กับแหล่งการ ประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต สร้างการรับรู้ผ่านเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC)

และ 4.วางระบบการขับเคลื่อน แผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการยกระดับ คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI โดย จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน แผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการ ยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI การปราบปรามที่จริงจัง และการลงโทษที่เข้มงวด การสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในการต่อต้านการทุจริต เพื่อให้การแก้ปัญหาเรื่องนี้ทำได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์