EEC: มองอุตสาหกรรมสีเขียวปลอดคาร์บอน
คำว่า "อุตสาหกรรมสีเขียว" จะเป็นคำที่ได้ยินบ่อยครั้งมากขึ้นตามเทรนด์การบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ในเกือบจะทุกกิจกรรม หรือทุกวงการไม่เว้นแม้แต่การลงทุนและในพื้นที่EEC
สืบเนื่องมาจากการเยือนประเทศไทยของ ฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ญี่ปุ่น ที่นำไปสู่การลงนามบันทึกเจตจำนงระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (JETRO) ที่เน้นความร่วมมือในการสนับสนุนนักลงทุนญี่ปุ่นลงทุนในพื้นที่ EEC ในอุตสาหกรรมที่เน้นด้านนวัตกรรม ไฮเทค และเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ผมยังมองยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นที่กำหนดยุทธศาสตร์ การลงทุนของเขาในกรอบใหม่ “Asia- Japan Investing for the Future” ที่เชื่อมเข้าด้วยกันในระบบดิจิทัล (Digital Connected Industries) นั้นหมายถึง ทุกผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทานมีการเชื่อมโยงกันในระบบดิจิทัล ซึ่งทำให้การวางแผนการผลิตสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ การส่งถ่ายข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“นึกง่าย ๆ ว่าเมื่อลูกค้าสั่งซื้อสินค้าที่จุดขาย คำสั่งซื้อนั้นถูกส่งต่อโรงงานผลิต และโรงงานก็จะส่งข้อมูลให้กับผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ทุกรายรู้ทันทีว่าต้องเตรียมวัตถุดิบอะไร ผลิตอะไร จำนวนเท่าไร คุณภาพและสเปคอย่างไร และส่งมอบตอนไหน ซึ่งดู ๆ ไปแล้วก็ให้นึกถึงแนวคิดของอุตสาหกรรม 4.0 อย่างไรอย่างนั้น แต่คราวนี้ญี่ปุ่นมองทั้งภูมิภาคเอเชียที่มีญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงผ่านการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในพื้นที่ต่าง ๆ”
ยิ่งไปกว่านั้น ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral) หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ EEC ที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมด้านนวัตกรรมใหม่ที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับว่าลงตัวกับความร่วมมือกันในครั้งนี้
สิ่งที่ผมจะขอเสนอในครั้งนี้ คือการทำงานลงไปในเชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ผมอยากให้การลงทุนใหม่ ๆ ในพื้นที่ EEC ทั้งหมด ไม่ว่าญี่ปุ่นหรือชาติใด ๆ มีแนวทางการดำเนินการตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมก็มีการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Factory) อยู่แล้ว ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ ความมุ่งมั่นสีเขียว ปฏิบัติการสีเขียว ระบบสีเขียว วัฒนธรรมสีเขียว และเครือข่ายสีเขียว ซึ่งกำหนดเกณฑ์ที่เข้มข้นตามระดับ จากการดำเนินการในองค์กรตนเอง จนถึงเครือข่ายทั้งหมดของตนเอง ซึ่งก็คือระบบห่วงโซ่อุปทานสีเขียว ซึ่งก็สอดคล้องกับ Green Connected Industry ที่ญี่ปุ่นอยากได้
นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ก็มีการกำหนดแนวทางการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) เลขที่ 2 – 2562 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสากล เนื่องจากอ้างอิงมาจากมาตรฐาน BS 8001: 2017 ของประเทศอังกฤษที่เป็นมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนแรก ๆ ของโลกที่ระบุถึงหลักแนวคิดนี้ที่องค์กรต้องมี ต้องทำ เพื่อให้องค์กรมีการนำหลักคิดของ Circular economy มาใช้ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและมีประโยชน์กับองค์กรมากที่สุด ไม่ใช่ที่เห็นในปัจจุบันที่ทำไม่กี่กิจกรรมก็เคลมแล้วว่าเป็นองค์กร Circular economy
ทั้งสองมาตรฐานนี้จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีแนวทางปฏิบัติในการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพตามแนวทางสากล แม้ว่าหลาย ๆ คนอาจมองว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มาลงทุนใน EEC เหล่านี้จะต้องมีมาตรฐานต่างประเทศอยู่แล้ว แต่ในวงการมาตรฐานสากล ทุกประเทศเข้าใจถึงหลักปฏิบัติในการดูแล ทำให้ทุกประเทศต่างมีมาตรฐานของตนเอง แต่ดัดแปลง อ้างอิง มาจากสากลทั้งนั้น ซึ่งของไทยก็เช่นกัน ไม่มีความแตกต่าง หรือด้อยกว่าสากลแต่อย่างใด
ผมว่าหาก สกพอ. ทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมในพื้นที่นี้มีมาตรฐานเหล่านี้ให้มากที่สุด ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อให้องค์กรต่าง ๆ มีแนวทางการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และมีองค์กรของรัฐเข้าไปช่วยสนับสนุน ดูแล แล้ว นอกจากช่วยอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการพัฒนาเรื่องนี้อย่างถูกทิศ ถูกทาง และมีประสิทธิภาพ จะส่งผลประโยชน์ต่อองค์กรเอง และที่สำคัญสุดก็เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนต่ออุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ว่ามีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่มีหน่วยงานรัฐให้การรับรองและดูแลใกล้ชิด ก็คงจะช่วยให้ลดความกังวลใจให้กับชุมชนได้ไม่มากก็น้อย ครับ