ธนาคารโลกเผย "เทคโนโลยี-BCG" ช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจไทย 3.4 พันล้านเหรียญ
ธนาคารโลก เผยรายงานวิเคราะห์ภาคเอกชนไทย ชี้การใช้ Disruptive Technology-ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยสร้างมูลค่าการลงทุน-รายได้ ประหยัดต้นทุนแก่เศรษฐกิจไทยมากถึง 3.4 พันล้านเหรียญ
นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (World Bank) เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์ภาคเอกชนของประเทศไทย (CPSD) โดย บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) และธนาคารโลก ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนโควิด-19 มีพัฒนาการที่ดี และมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด สะท้อนจากการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างต่างๆ และการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศในภูมิภาค รวมถึงการท่องเที่ยวและการส่งออก
แต่หลังโควิด-19 เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจสะท้อนว่าโมเดลเศรษฐกิจแบบเดิมที่ใช้อยู่อาจทำงานได้ไม่ดีมากเท่าที่ควรจะเป็นแล้ว อย่างไรก็ดี แม้โควิด-19 จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทย ไม่แตกต่างจากเศรษฐกิจอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน แต่ความท้าทายดังกล่าวก็เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนมากขึ้น
สำหรับปัจจัยที่ธนาคารโลกและ IFC คาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป ได้แก่ 1. การนำเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน (Disruptive Technology) มาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของภาคเอกชน ช่วยสร้างตลาดและรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ รวมถึงช่วยให้สินค้าและบริการมีราคาถูกลง สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น
เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจแนวหน้าของเอเชีย อาทิ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย และ ญี่ปุ่น ประเทศไทยยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตามหลังกลุ่มประเทศเหล่านี้อยู่มาก เช่น เทคโนโลยีการเดินทาง (Mobility Tech) เทคโนโลยีความบันเทิง (Entertainment Tech) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data and Analytics) ฯลฯ อย่างไรก็ดี มีบางธุรกิจ เช่น อีคอมเมิร์ซ และฟินเทค ที่กำลังเติบโตอย่างมาก ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีมาต่อยอดการเติบโตได้
เบื้องต้น ประเมินโอกาสที่กระแสเงินลงทุนจะไหลเข้ามาในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวราว 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 6 หมื่นล้านบาทต่อปี) แบ่งเป็นเม็ดเงินจากการลงทุนใหม่ในกลุ่มธุรกิจที่ไทยยังตามหลัง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4 หมื่นล้านบาท) และการขยายการลงทุนเดิมที่กำลังเติบโต 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2 หมื่นล้านบาท)
2. การนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้ใหม่ให้กับภาคเอกชนได้ราว 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5 หมื่นล้านบาท) ภายในปี 2569 โดยประเมินจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสพัฒนาสูง ได้แก่ อิเล็กทรอกนิกส์ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 หมื่นล้านบาท) อาหาร 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.3 หมื่นล้านบาท) และก่อสร้าง 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 หมื่นล้านบาท)
“ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างทักษะสำหรับอนาคตไปพร้อมๆ กับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ก่อให้เกิดตลาด เราต้องเตรียมพร้อมให้คนรุ่นใหม่เป็นโปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เส้นทางการเติบโตที่ยืดหยุ่น ยั่งยืน และครอบคลุม"
นางสาวเจน หยวน ชู ผู้จัดการ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทยและเมียนมา กล่าวว่า เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์การเติบโตในระดับสูง ประเทศไทยยังต้องแก้ไขข้อจำกัดด้านการลงทุนและข้อจำกัดเฉพาะภาคส่วนซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเอกชน การปฏิรูปที่สำคัญจะช่วยสร้างงานคุณภาพสูง เพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรี พัฒนาตลาดนวัตกรรม และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
รายงานยังเน้นย้ำว่าการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการปฏิรูปโครงสร้งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนในนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีหมุนเวียน จากการวิเคราะห์และการปรึกษาหรือกันอย่างกว้างขวางพบว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปหลายด้าน เช่น การส่งเสริมการแข่งขันในตลาด การขจัดข้อจำกัดในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การเปิดการเข้าถึงนวัตกรรมการเงิน และการขยายทักษะสำหรับอนาคต
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในช่วงโควิด-19 เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ การใช้และการขยายขอบเขตการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้ประเทศไทยเป็นผู้นำตลาดที่ก้าวทันเมกะเทรนด์ระดับโลก เช่น ระบบอัตโนมัติและการลดคาร์บอนเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ พร้อมทั้งช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าของห่วงโซ่คุณค่าทั้งในระดับประเทศและระดับโลก