“อาคม”เผย “สุพัฒนพงษ์”นัดแจงโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่กับค่ายรถยนต์ในสัปดาห์หน้า
“อาคม”เผย “สุพัฒนพงษ์”นัดแจงโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่กับค่ายรถยนต์ในสัปดาห์หน้า ขณะที่ ยอมรับโครงสร้างใหม่จะกระทบต่อรายได้รัฐบาลในระยะสั้น แต่ระยะยาวจะเกิดผลดีกับระบบเศรษฐกิจทั้งจากการลงทุนและการจ้างงาน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ที่ครม.อนุมัตินั้น เป็นโครงสร้างภาษีที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนการใช้รถยนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ในหลักการ คือ รัฐบาลจะทยอยปรับภาษี ใครที่ทำไม่ได้ ก็ให้เวลา ใครถ้าทำได้ ก็จะได้ปรับลดภาษีลงมา
เขายอมรับว่า เมื่อเราปรับภาษีแล้ว แน่นอนว่า จะกระทบต่อรายได้ แต่ในทางกลับกัน จะเกิดการลงทุน การจ้างงาน ซึ่งจะมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนทั้งโรงงานใหม่ โรงงานเก่า และทั้งที่อยู่ในบีโอไอและนอกบีโอไอ เมื่อดีมานด์เกิดขึ้น ก็จะเป็นดีมานด์ใหม่ทดแทนดีมานด์เก่า ฉะนั้น รายได้ที่จะได้กลับมา จะมาในรูปภาษีเงินได้นิติบุคคล ฉะนั้น ช่วงแรกอาจต้องยอมลงทุนให้ พูดง่ายๆ คือ แบกภาระต้นทุนตรงนี้ให้ เพื่อให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนใหม่ๆ
นอกจากนี้ สิ่งที่จะได้ คือ เมื่อมีการลดคาร์บอนแล้ว เราสามารถนำคาร์บอนที่เราลดนั้น ไปซื้อขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้ด้วย ซึ่งเป็นไปตามข้อผูกพันปี 2030 นี่คือ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น
“สุดท้ายแล้ว จะทำให้รายได้โดยรวมเพิ่มขึ้นมา ก็เป็นแนวทางบริหารด้านภาษี เช่นเดียวกันกับการที่เราส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว จนเกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เราเป็นฮับรถกระบะส่งออกไปต่างประเทศ จะมีรายได้กลับเข้ามาในประเทศ เพราะรถยนต์ใช้ไฟฟ้า ไม่ได้ผลิตใช้ในประเทศอย่างเดียว แต่ใช้เพื่อการส่งออกด้วย ฉะนั้น การส่งเสริมให้เป็นเราเป็นฮับอุตสาหกรรมยานยนต์ก็จำเป็น ไม่เช่นนั้น เราจะก้าวไม่ทันการเป็นฮับผู้ผลิตรถยนต์ คนอื่นจะแซงไป”
เขากล่าวด้วยว่า ถามว่า เราให้เวลาผู้ประกอบการรถยนต์ที่ใช้น้ำมันน้อยไปไหม จริงๆแล้ว ก็มีการพูดคุยกันกับค่ายรถยนต์ต่างๆและในสัปดาห์หน้ารองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ จะหารือกับค่ายรถยนต์ต่างๆ โดยค่ายรถยนต์ก็รอดูโครงสร้างภาษีตัวนี้ แต่ที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์เขาก็ได้หารือและยอมรับโครงสร้างนี้ ก็ให้เวลาเขา
“ส่วนที่ระบุว่า ให้เวลาน้อยไป บางค่ายก็อาจจะบอกว่า อยากจะให้ลงมาเดี๋ยวนี้เลย เพราะอยากช่วงชิงดีมานด์ ถ้าต้นทุนถูกกว่า ก็ส่งออกได้ ฉะนั้น ก็จะเกิดกรณีที่บางคนบอกว่า ให้เวลาน้อยไป หรือ มากไป เป็นต้น แต่ว่า ก็ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างค่ายรถยนต์ แต่ก็พูดคุยกับค่ายรถยนต์เขาก็พร้อมที่จะลงทุน แต่ถ้าใครที่ไม่สามารถที่จะผลิตชดเชยได้ สิทธิประโยชน์การอุดหนุนตรงนั้น ก็ต้องถูกพับไป”
นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต โฆษกกรมสรรพสามิตกล่าวว่า โครงสร้างภาษีใหม่นี้ จะต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้น กรมฯจะลงนามกับค่ายรถยนต์ที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการของรัฐ จากนั้น ค่ายรถยนต์ก็จะสามารถทำโปรโมรชันเพื่อขายรถได้ทันที
สำหรับข้อสรุปเรื่องแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ลดราคารถยนต์อีวีนั้น ในหลักการเบื้องต้น คือ ปีแรก จะใช้งบกลางประมาณ 3 พันล้านบาท ส่วนปีที่ 2-4 ที่เราคาดจะใช้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทนั้น ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือกับสภาพัฒน์เพื่อหาทางหาเงินมาใช้ในปีดังกล่าว
ทั้งนี้ กรณีรถคันแรกนั้น เราให้เงินกับประชาชน แต่มีข้อจำกัดว่า เราจะให้หลังครอบครองอย่างน้อย 1 ปี และต้องครอบครอง 5 ปี ถึงจะเปลี่ยนมือได้ ส่วนกรณีนี้ โครงสร้างราคาที่เขาจะขอลดราคาจะต้องให้กรมสรรพสามิตพิจารณาอนุมัติเป็นรุ่นๆไป เพื่อให้เงินอุดหนุนถึงมือประชาชนจริงๆ และโดยเฉพาะช่วงเวลาที่ใช้สิทธิ์ ห้ามมีการเปลี่ยนโฉมรถยนต์เพื่อปรับราคาขึ้น เราก็จะไม่ให้ทำ
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลฯ ได้ร่างประกาศการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าตามที่ครม.อนุมัติเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างตรวจความถูกต้อง และส่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับต่อไป โดยเชื่อว่า จะไม่มีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีรายได้ของกรมศุลฯ เนื่องจาก รถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องนำเข้านั้น ส่วนใหญ่จะมีราคาแพง มากกว่า 7 ล้านบาทขึ้นไป ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรม