บิ๊กคอร์ปหนุนสตาร์ทอัพ ระดมทุนรุก “บีซีจี-5
การพัฒนาสตาร์ทอัพจะช่วยต่อยอดธุรกิจ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้มีแนวทางการส่งเสริมสตาร์ทอัพ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้เดินหน้าความร่วมมือ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โครงการเดลต้า แองเจิลฟันด์ เข้าสู่ปีที่ 7
รวมงบให้เปล่าสตาร์ทอัพไทย 6 ปี โดยในปี 2565 มีพันธมิตรเอกชนหน้าใหม่เข้าร่วม ได้แก่ บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บริษัท ฮับบา จำกัด และบริษัท มีเดียแท็งค์ จำกัด สนับสนุนพัฒนาการโมเดลธุรกิจสู่การเติบโตเชิงพาณิชย์ได้
ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาโครงการ “เชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ (Angel Fund)” ของ กสอ.ได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2559-2564 ในการสนับสนุนทุนให้เปล่าแก่สตาร์ทอัพไปแล้วจำนวน183 ทีม และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูงถึง 650 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภาครัฐได้พบจุดอ่อนของกลุ่มสตาร์ทอัพไทยในด้านการสร้างโมเดลธุรกิจที่แข็งแรงเพื่อต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์ รวมทั้งขาดความเชื่อมโยงกับบริษัท เดลต้าฯ จึงทำโอกาสการเติบโต (Scale up) เป็นไปได้ยาก จึงได้มีการกำหนดกลไกและนโยบายการส่งเสริมสตาร์ทอัพให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการ
“ในปี 2565 โครงการยังคงเดินหน้าต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 7 ด้วยงบให้เปล่าจาก บริษัทเดลต้าฯ 4 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกแล้วจำนวน 50 ทีม เป็นธุรกิจในกลุ่มบีซีจีโมเดล อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน การพัฒนาสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยี การบริหารจัดการพลังงาน เป็นต้น อีกทั้งตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน โดยในปีนี้จะมีการแข่งขันที่สูงขึ้นเพื่อให้กับสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกได้รับเงินก่อนใหญ่ขึ้น”
สำหรับแนวทางการส่งเสริมนับจากนี้จะมุ่งเป้าพัฒนาและส่งเสริมสตาร์ทอัพเพื่อให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยการใช้นวัตกรรมหรือองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมอีกทั้ง ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ มีศักยภาพและความพร้อมสำหรับการนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อบริษัทเอกชนผู้ให้ทุนสนับสนุนผ่านกิจกรรม “บ่มเพาะทักษะทางธุรกิจอย่างเข้มข้น” (Business camp) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการนำเสนอแผนธุรกิจที่สามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นซึ่งกระบวนการบ่มเพาะใช้เวลาจำนวน 7 วัน ในรูปแบบไฮบริด
รวมทั้ง การฝึกทักษะการแก้โจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรมผ่านกิจกรรม Hackathon อีกจำนวน 3 วัน โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท ฮับบา จำกัด ร่วมเป็นที่ปรึกษาในการช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ และทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพก่อนการนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อแหล่งทุนในกิจกรรม Pitching Day และร่วมมือกับ บริษัท มีเดียแท็งค์ จำกัด เพื่อส่งต่อสตาร์ทอัพเข้าร่วมรายการให้สามารถสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงไปสู่นักลงทุนรายอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น
ในระยะต่อไป สิ่งที่ดีพร้อมต้องการช่วยส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพเพิ่มเติม คือ แนวทางการสร้างระบบนิเวศผ่านแซนด์บ็อกซ์ หรือสถานที่บ่มเพาะเหล่าสตาร์ทอัพ โดยใช้ทั้งหน่วยงานภายในดีพร้อมและธุรกิจเครือข่าย เปิดพื้นที่ให้สตาร์ทอัพได้มีโอกาสทดลองหรือจัดตั้งธุรกิจจริง สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ทั้งระบบออนไลน์ ออฟไลน์
พร้อมสำรวจปัญหาของภาคอุตสาหกรรมเพื่อเฟ้นหาโซลูชันจากสตาร์ทอัพเข้าไปช่วยยกระดับการดำเนินงานให้ดีขึ้นและพัฒนาธุรกิจและเทคโนโลยีให้ทัดเทียมกับต่างชาติได้ ผ่านการดำเนินโครงการเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นอย่างดีพร้อม หรือ DIProm Startup Connect ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ อีกด้วย
จาง ช่าย ซิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเดลต้าฯ ร่วมกับ ดีพร้อมในการดำเนินธุรกิจเชิง CSR โดยการคืนกลับสู่สังคมในรูปแบบการสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาต่อยอดให้กับสตาร์ทอัพไทยผ่านโครงการ Delta Angle Fund อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7
สำหรับในปีนี้ทางบริษัทฯ ทุ่มเงินจำนวน 4 ล้านบาท เพื่อให้การสนับสนุนเงินให้เปล่าแก่สตาร์อัพไทยที่มีแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์เชิงนวัตกรรมมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนและต่อยอดการเริ่มต้นธุรกิจ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ได้ โดยยกตัวอย่างสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จหลังได้รับความสนับสนุนจากโครงการฯ ได้แก่ ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี AI และ IoT เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในอาคาร ธุรกิจพัฒนาซอร์ฟแวร์สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสะอาด และธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อทําให้การศึกษาสามารถเข้าถึงได้สําหรับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา
ส่วนโจทย์ใหญ่ของสตาร์ทอัพไทยในปีนี้ คือ การเร่งคิดค้นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี เพื่อแก้ไขปัญหาของโลกในบริบทต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ซึ่งมีผลกระทบต่อคนทุกคน สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดที่ทำให้คนต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภาวะสังคมสูงวัยและประชากรที่เกิดน้อยลงนำไปสู่การพัฒนาด้านการแพทย์
“เมกะเทรนด์ของสตาร์ทอัพในปี 2565 จะเริ่มพัฒนาจากการที่ประเทศไทยเริ่มใช้เครือข่าย 5จี ซึ่งเป็นกุญแจหลักที่ผลักดันให้เกิดการทรานส์ฟอร์มและเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม รวมทั้งการแก้ปัญหาด้านพลังงานฟอสซิลที่จะขาดแคลนในอนาคตด้วยการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้า”