ติดปีกคนอาชีวะ ตอบโจทย์ ภาคอุตสาหกรรมใน EEC
ภาคอุตสาหกรรในพื้นที่EEC ซึ่งเป็นแหล่งการลงทุนที่น่าสนใจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศซึ่งทำให้EEC และภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องการค้นทีมีทักษะแห่งอนาคตมากขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่อยู่ในโลกของ Mechatronics จำเป็นต้องมีทักษะและองค์ความรู้เกี่ยวกับดิจิทัลรอบด้าน เพื่อก้าวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเทคโนโลยีและโลกใบนี้
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) มองว่า หนึ่งในกลุ่มคนที่คลุกคลีกับแวดวง Mechatronics ที่จะต้องได้รับการติดปีกความสามารถด้านดิจิทัลคือ นักเรียน นักศึกษาในระดับอาชีวศึกษา ดังนั้นจะทำอย่างไรให้คนในสาย ‘ฮาร์ดแวร์’ สามารถเข้าใจทักษะการใช้งาน ‘ซอฟต์แวร์’ ควบคู่ไปด้วย
ที่ผ่านมา depa ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนองค์ความรู้ ทักษะ อุปกรณ์ รวมถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลแก่สถาบันอาชีวศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และหนึ่งในโครงการสำคัญคือ การจัดตั้ง ศูนย์พัฒนาทักษะและออกแบบระบบ IoT เพื่ออุตสาหกรรม โดยความร่วมมือกับ วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี IoT ในภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา เตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต
ห้องเรียนแบบเดิม ๆ ขนาด 228 ตารางเมตรถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ฝึกอบรมหลักสูตร IoT และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อยกระดับทักษะให้ตรงความต้องการของสถานประกอบการ เพรียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ IoT Factory Automation Learning Machine ที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการติดตั้ง Sensor ในเครื่องจักรสำหรับการผลิต และนำข้อมูลที่ได้ไปประมวลผลผ่านระบบ Cloud ก่อนนำผลการวิเคราะห์มาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเครื่องจักร เพื่อลดความสูญเสีย ขณะเดียวกันจะทำให้โรงงานมีผลิตภาพที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ depa ยังร่วมพัฒนาหลักสูตรและทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยี IoT แก่บุคลากร 3 กลุ่ม ได้แก่
1. ครู อาจารย์ ที่จะได้รับการฝึกอบรมในรูปแบบ Train the Trainer ซึ่งสามารถนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอด ช่วยให้นักเรียน นักศึกษาของวิทยาลัยฯ มีความสามารถด้านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผลข้อมูล อีกทั้งนำหลักสูตรไปถ่ายทอดให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมได้
2. นักเรียน นักศึกษา ระดับ ปวช. และ ปวส. ของวิทยาลัยฯ ในสาขาอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า Mechatronics สารสนเทศ และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องจะได้รับการพัฒนาทักษะด้าน IoT ที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการใน EEC ซึ่งได้รับความร่วมมือทางวิชาการจาก สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล และสมาคมไทยไอโอที ที่นำโจทย์จากภาคอุตสาหกรรมมาใช้เป็นกรณีศึกษา และเมื่อน้อง ๆ จบการศึกษาจะมีทักษะที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ
3. บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่ทำงานในสถานประกอบการ หรือโรงงานอุตสาหกรรมใน EEC และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจ สามารถนำความรู้ที่เกี่ยวข้องมาใช้บริหารระบบการผลิต ลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น และเพิ่มผลิตภาพเครื่องจักรต่อไป
ในอนาคตอันใกล้ คนในสายอาชีพจะต้องรู้จักและคุ้นเคยกับอุปกรณ์ดิจิทัลทุกประเภท ผู้ที่จะใช้งาน ซ่อมบำรุง และดูแลรักษาต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดิจิทัลรอบด้าน
ทั้ง ‘ซอฟต์แวร์’ และ ‘ฮาร์ดแวร์’ ดังนั้นการยกระดับทักษะและองค์ความรู้ด้านดิจิทัลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ depa พร้อมเดินหน้าสานต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแก่นักเรียน นักศึกษาระดับอาชีวศึกษา โดยคาดว่าจะช่วยให้น้อง ๆ มีความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นกว่า 2,300 คนต่อปี ซึ่งถือเป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมไทยในการก้าวสู่ยุคดิจิทัลต่อไป