ส่องปัจจัยหนุนเศรษฐกิจปี 65 ฟื้นตัว "สภาพัฒน์" คาดจีดีพีโต 4%

ส่องปัจจัยหนุนเศรษฐกิจปี 65 ฟื้นตัว "สภาพัฒน์" คาดจีดีพีโต 4%

"สภาพัฒน์" คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2564 ชูปัจจัยบวกหลายด้าน ทั้งการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง การลงทุนที่ขยายตัว บนสมุติฐานการแพร่ระบาดโควิดที่ไม่รุนแรง พร้อมให้แนวบริหารเศรษฐกิจ 9 ข้อ เร่งดำเนินการสร้างการเติบโตในอนาคต

เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ขยายตัวได้ 1.6% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 1.2 % ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ การส่งออกที่ยังไปได้ดี บนสมมุติฐานที่โรคโควิดต้องไม่กลายพันธุ์เพิ่มเติม 

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.คาดการณ์ว่าจีดีพีไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.5 – 4.5% เท่ากับการประมาณการในครั้งก่อน โดยอยู่บนสมมุติฐานว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดของโควิดกลายพันธุ์ที่มีความรุนแรงจนทำให้มีการเจ็บป่วยรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก การส่งออกที่ยังคงฟื้นตัวได้ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 4.9%

ส่วนการบริโภคเอกชนจะขยายตัวได้ 4.5% และการลงทุนของภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 3.8% ส่วนการลงทุนภาครัฐจะขยายตัว 4.6%

ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังมีโครงสร้างการพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง ทำให้ต้องรอการฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยวเข้ามาเป็นส่วนช่วยให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น โดย สศช.คาดว่าการท่องเที่ยวในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 5.5 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 4.7 แสนล้านบาท

“ในปีนี้เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลายๆส่วน ไม่มีพระเอกตัวใดตัวหนึ่งโดยเฉพาะ ต้องอาศัยการฟื้นตัวจากหลายๆส่วนเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมาย”

สำหรับการบริหารเศรษฐกิจในปีนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆที่ยังเป็นอุปสรรคในการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยได้แก่เรื่องหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่ง สศช.ได้เสนอแนะในโอกาสต่างๆว่าต้องมีมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่อง เช่น การชะลอหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ 

ขณะที่ปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อที่สูงเป็นปัญหาที่หลายประเทศเผชิญโดยในส่วนของประเทศไทยนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามนโยบายนี้อย่างใกล้ชิดและคงจะพิจารณาถึงปัจจัยความเสี่ยงจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจของไทยด้วย

สำหรับนโยบายและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะถัดไปยังต้องให้ความสำคัญกับการรักษาระดับการบริโภคในประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีการลงทุนและให้มีมาตรการรักษาระดับการจ้างงาน

นายดนุชากล่าวว่าการบริหารเศรษฐกิจในปีนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆที่ยังเป็นอุปสรรคในการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยได้แก่เรื่องหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

ซึ่ง สศช.ได้เสนอแนะในโอกาสต่างๆว่าต้องมีมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่อง เช่น การชะลอหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่ปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อที่สูงเป็นปัญหาที่หลายประเทศเผชิญกับปัญหาเนื่องจากมีประเด็นเรื่องของราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น และธนาคารกลางในหลายประเทศใช้มาตรการทางการเงินคือจะใช้การขึ้นดอกเบี้ยนโนบายเพื่อชะลอเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

โดยในส่วนของประเทศไทยนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามนโยบายนี้อย่างใกล้ชิดและคงจะพิจารณาถึงปัจจัยความเสี่ยงจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจของไทยด้วย

สำหรับนโยบายและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะถัดไปยังต้องให้ความสำคัญกับการรักษาระดับการบริโภคในประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีการลงทุนมากขึ้น รวมถึงการเร่งรัดโครงการที่มีการขอส่งเสริมการลงทุนให้เร่งรัดการลงทุนจริง

นอกจากนั้น สศช.ยังสนับสนุนให้มีมาตรการรักษาระดับการจ้างงานเพื่อช่วยสร้างอาชีพให้กับแรงงานในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่ว่าต้องดูว่าในส่วนวงเงินกู้ฯให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติมเหลือเงินกู้อยู่พอเพียงที่จะทำมาตรการต่อเนื่องหรือไม่เนื่องจากในขณะนี้เงินกู้ 5 แสนล้านบาทเหลืออยู่ประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท

ขณะที่มีความต้องการใช้เงินกู้เพื่อจ่ายค่ารักษาโควิด-19 ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ทำคำขอใช้เงินกู้เข้ามาแล้ว

เลขาธิการ สศช.กล่าวต่อว่าในส่วนประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2565  ควรให้ความสำคัญกับ

1.การป้องกันและควบคุม การแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด

2. การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยการเร่งรัดติดตามมาตรการต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

และมาตรการเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงและในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติม และการเร่งรัดมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ภาคธุรกิจ 

3.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยติดตามโดยการติดตามและประเมินผลมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การดูแลกลไกตลาด เพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า รวมทั้งผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และการพิจารณาการใช้จ่ายภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และ 2566 โดยให้ความสำคัญมากขึ้นกับโครงการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างงานสร้างอาชีพในระดับชุมชน เพื่อรองรับแรงงานย้ายกลับภูมิลำเนา

4.การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน โดยให้ความสำคัญกับมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการจูงใจในการชำระหนี้และบรรเทาภาระหนี้สินที่สำคัญ

5.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลัก ควบคู่กับการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพและการสนับสนุนการค้าชายแดน การพัฒนาสินค้าส่งออกให้มีคุณภาพและมาตรฐาน การแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และ การปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต

6. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค

7.การลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และการพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

8.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ

และ 9. การขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการกระจายรายได้ และปรับตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ