เคาะ มาตรการรับมือผลไม้ปี 65 ผลผลิต 1.18 ล้านตันพุ่ง32 %
ผลผลิตผลไม้ไทยปีนี้อาจเพิ่มขึ้นถึง 32 % จึงต้องเตรียมมาตรการรับมือ เพื่อไม่ให้กระจุกตัวและเกิดปัญหาราคาตกต่ำ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1.6แสนล้านบาทโดยเฉพาะทุเรียนส่งออกทะลุแสนล้านเป็นครั้งแรก
ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ฤดูกาลที่ผลไม้จะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน มี.ค. นี้เป็นต้นไป โดย ปี 2565 นี้ คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) มุ่งเน้นให้บริหารจัดการเชิงคุณภาพ โดยคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) แต่ละจังหวัดนำข้อมูลแต่ละสินค้าไปบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จ
รวมถึงการบริหารจัดการเชิงปริมาณ เน้นความสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน เชื่อมโยงปริมาณผลผลิตกับความต้องการของตลาด โดยสำรวจความต้องการไม้ผลแต่ละชนิด ตามช่วงเวลาความต้องการของผู้ประกอบการ ผู้รวบรวม ส่งออก สหกรณ์โรงงานแปรรูปฯ ห้างสรรพสินค้า ทั้งผลสดและแปรรูป
โดยกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนการกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ให้มีความคล่องตัว ในการหาตลาดต่างประเทศ ผลักดันการส่งออก เจรจา ป้องกันระบบการขนส่งผลผลิตกระจุกตัวตามด่านชายแดนทั้งสปป.ลาว เวียดนาม จีน ให้สินค้าผ่านระบบการส่งออกทางบกได้สะดวก ตามแผนมาตรการเชิงรุก “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”
นอกจากนี้ หน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร บูรณาการร่วมกันบริหารจัดการ ควบคุมคุณภาพสินค้าตามมาตรฐาน GAP การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม รวมทั้งแนวทางปฏิบัติการป้องกันโรคโควิด-19 ในระดับสวนเกษตรกร
ทั้งนี้ ในช่วงผลผลิตกระจุกตัวมาก หน่วยงานทั้งส่วนกลางและในพื้นที่มีแนวทางในการบริหารจัดการร่วมกันในการจัดตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์รายวัน ทั้งด้านปริมาณผลผลิตและราคาขาย
นอกจากนี้จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญได้กำหนดมาตรการในการควบคุมป้องกัน และแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาดในฤดูกาลผลิต ปี 2565 โดยประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนไว้ 4 พันธุ์ ดังนี้ พันธุ์กระดุมเก็บเกี่ยวได้วันที่ 20 มี.ค. 2565 พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี เก็บเกี่ยวได้วันที่ 10 เม.ย. 2565 พันธุ์หมอนทอง เก็บเกี่ยวได้วันที่ 25 เม.ย. 2565 หากมีความประสงค์จะเก็บเกี่ยวทุเรียนก่อนวันกำหนดเก็บเกี่ยว เกษตรกรและคนรับจ้างตัดทุเรียนต้องแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่
ส่วนแนวโน้มผลผลิตปีนี้ ในการประชุมคณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลไม้ผลและโลจิสติกส์ภาคตะวันออก ปี 2565 ครั้งที่ 2 ได้รายงานว่า สถานการณ์ออกดอกติดผลของไม้ผล 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือระยอง จันทบุรี ตราด คาดว่าปี 2565 จะมีปริมาณผลผลิต 1,184,373 ตัน เพิ่มขึ้น 32 %เมื่อเทียบกับปี 2564
เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น เหมาะสม และมีฝนตกเป็นช่วงๆ อย่างต่อเนื่องในเดือนธ.ค. 2564 – ม.ค. 2565 เอื้อต่อการออกดอกและติดผลของไม้ผล ทั้งนี้ ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนก.พ. ต่อเนื่องจนถึงกลางเดือนก.ย. 2565 โดยจะออกกระจุกตัวสูงสุดในช่วงเดือนพ.ค. 2565
อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจผลไม้ล่วงหน้าทั้งระบบ กล่าวว่า มาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2565 ประกอบด้วย 17 มาตรการ เพื่อดูแลบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบ เป็นมาตรการหลักในการขับเคลื่อน เช่น
1.มาตรการเร่งรัดตรวจและรับรอง GAP ซึ่งมีเป้าหมายในปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 120,000 แปลง 2. มาตรการช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกรหรือล้ง กระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท ปริมาณ 80,000 ตัน 3. มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกโดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ย 3% และช่วยผู้ส่งออกที่ส่งออกผลไม้อีกกิโลกรัมละ 5 บาท ปริมาณ 60,000 ตัน
จากมาตรการต่างๆที่กำหนดขึ้นจะทำให้ตลาดผลไม้ปีนี้สดใสต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสภานการณ์โควิด-19