พลังงานพุ่งดัน ‘จานด่วน’ ขยับราคา 5-10 บาท

พลังงานพุ่งดัน ‘จานด่วน’ ขยับราคา 5-10 บาท

จับตาร้านอาหารจานด่วนขยับขึ้นอีก 5-10 บาท หลังก๊าซหุงต้มเตรียมปรับสิ้นมี.ค. และราคาน้ำมันดิบยังสูงขึ้นจากความตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่รายได้ประชาชนถดถอยจากโควิด โจทย์ใหญ่รัฐบาลแก้ไม่ตก ติดตามได้จากรายงาน

เสียงสะท้อนจากบรรดาร้านค้าขายอาหารปรุงสำเร็จหรือจานด่วน ต่างบ่นเป็นเสียงเดียวว่าต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นมาก จนทำให้ไม่สามารถแบกภาระและมีการปรับขึ้นราคาอาหารจานด่วนไม่ว่าจะเป็นข้าวแกง อาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว มีการปรับขึ้นราคาไปแล้ว 5-10 บาทต่อจานต่อชาม จาก 35-40 บาทต่อจานต่อชาม ขึ้นเป็น 45-50 บาทต่อจานต่อชาม

แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงาน จะออกมาแทรกแซงราคาต้นทุนวัตถุดิบ แต่ราคาสินค้าในภาพรวมยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ เครื่องปรุงอาหาร จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามวัตถุดิบและราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นค่าขนส่งสินค้า และมีแนวโน้มน้ำมันดิบจะสูงขึ้นทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความตรึงเครียดรที่จะเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

นอกจากราคาน้ำมันดิบ ปัจจัยลบท่ีส่งผลให้จานด่วนปรับขึ้นราคาอีกระลอก คือการปรับขึ้นของก๊าซหุงต้ม ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการประกอบอาหารจานด่วน ล่าสุดกระทรวงพลังงานจะปล่อยให้มีการขยับราคาก๊าซหุงต้มที่ตรึงราคาไว้ขนาดถัง 15 กิโลกรัม ในราคา 318 บาทต่อถัง ที่จะสิ้นสุดมาตรการวันที่ 31 มี.ค. 2565 ทยอยปรับขึ้นเป็นขั้นบันไตรมาสละ 1 บาทต่อกิโลกรัม โดยจะปรับขึ้นครั้งที่ 1 ประมาณ 15 บาท อยู่ที่ 333 บาทต่อถัง และขึ้นครั้งที่ 2 ประมาณ 30 บาท อยู่ที่ 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม

ความเสี่ยงที่ทำให้ราคาอาหารจานด่วนอาจขยับขึ้นราคาเพิ่มอีก 5-10 บาทต่อจานต่อชาม ขณะที่บริการส่งออกอาหารออนไลน์ หรือฟู้ด เดลิเวอรี่ เป็นอีกตัวเร่งที่ทำให้ผู้ประกอบการอาหารจานด่วนต้องปรับราคา จากการถูกเรียกเก็บค่าคอมมิสชั่น หรือ ค่า GP ที่ต้องจ่ายให้แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ไม่ต่ำกว่า 30%

ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนให้กับภาคประชาชนในภาวะรายได้ถดถอยจากผลกระทบโควิด 19 แต่รายจ่ายอาหารจำเป็นในชีวิตประจำวันกลับปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ บิซอินไซด์ รายงาน