การรถไฟฯ ชูโมเดลจ่าย "ซีพี" เดินหน้าสร้างพื้นที่ทับซ้อนไฮสปีดเทรน
ร.ฟ.ท.ชูโมเดลจ่ายค่าก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนไฮสปีดไทย - จีน ผ่อนชำระ 1.3 แสนล้านบาท นาน 7 ปี ดันกลุ่มซีพีเดินหน้าตอกเสาเข็ม ยันโจทย์สำคัญแนวทางนี้รัฐประหยัดงบประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาการทับซ้อนของโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย โดยระบุว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการเจรจาร่วม บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่มีกลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างสองโครงการในช่วงพญาไท – ดอนเมืองนั้น ขณะนี้ทางเอกชนรับข้อเสนอในการดำเนินการก่อสร้างส่วนดังกล่าว ทำให้ต้องแก้ไขร่างสัญญาร่วมลงทุนในโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน
เนื่องจากเงื่อนไขในสัญญาเดิมระบุไว้ว่าให้ชำระค่าก่อสร้างช่วงพญาไท - ดอนเมือง เมื่อมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ ต้องปรับเป็นแบบชำระระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยจะแบ่งชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการแต่ละปี ระหว่างการก่อสร้างเป็นเวลา 7 ปีๆ ละเท่ากัน โดยรัฐจะชำระเงินร่วมลงทุนงวดแรกในเดือนที่ 1 ของปีที่ 3 สำหรับงานโยธาที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปีที่ 1 โดยชำระตามมูลค่างานที่ ร.ฟ.ท.ได้ตรวจรับจริง และไม่เกินกว่าวงเงินที่ตกลงกันในแต่ละปี
“เงื่อนไขการจ่ายค่าก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนนี้ การรถไฟฯ เราเพียงเสนอแนวทางเลือกให้ที่ประชุมพิจารณา ซึ่งส่วนนี้เอกชนได้รับไปพิจารณาด้วย ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะเลือกหรือใช้อย่างไร แต่แนวทางที่เสนอถือเป็นแนวทางที่รัฐเสียผลประโยชน์น้อยที่สุด เพราะจะสามารถงบประมาณมากที่สุด”
อย่างไรก็ดี แนวทางที่ ร.ฟ.ท.เสนอแบ่งชำระ 7 ปีๆ ละเท่ากันนั้น ถือเป็นแนวทางเลือกที่ 4 จากผลการศึกษาเปรียบเทียบ โดยมีรายละเอียดจากผลการศึกษาระบุว่าเป็นแนวทางที่เอกชนคู่สัญญาจะต้องยอมลดผลตอบแทนจาก 5.52% เหลือ 5.24% ซึ่งรัฐจะชำระเงินร่วมลงทุน 133,475 ล้านบาท และแนวทางนี้รัฐจะประหยัดงบประมาณได้ 25,362 ล้านบาท จากการประหยัดเงินที่รัฐร่วมลงทุน 16,155 ล้านบาทและไม่ต้องชำระค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น 9,207 ล้านบาท โดยรัฐจะมีภาระในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีสูงสุด 19,071 ล้านบาท ระยะเวลารวม 7 ปี
รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า มติ ครม.เกี่ยวกับการพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของโครงการไฮสปีดเทรนทั้งสองโครงการนั้น ได้เห็นชอบให้บริษัทเอเชียเอราวัน เป็นผู้รับผิดชอบออกแบบและก่อสร้างงานโยธา รวมงานทางวิ่งของโครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง แต่ให้ยึดข้อตกลงทั้งมาตรฐานและระยะเวลาของรถไฟไทย-จีนเป็นหลัก ดังนั้นการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนต้องเสร็จใน ก.ค.2569
สำหรับการพิจารณาแก้ปัญหาซ้อนทับที่นำมาสู่การแก้สัญญารถไฟ 3 สนามบิน เพื่อให้บริษัทเอเชียเอราวัน เริ่มงานก่อสร้างส่วนนี้ เพราะช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ทั้ง 2 โครงการต้องใช้โครงสร้างโยธาร่วมกัน แต่เวลาการก่อสร้างและมาตรฐานเทคนิคไม่สอดคล้องกัน
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาให้การก่อสร้างมีประสิทธิภาพเป็นการก่อสร้างครั้งเดียว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.จึงเจรจาเอกชนคู่สัญญาโครงการไฮสปีด 3 สนามบิน คือ บริษัทเอเชียเอราวัน ทำข้อเสนอการแก้ไขสัญญาร่วมทุน เพื่อให้เอกชนเร่งก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยให้เอกชนรับพื้นที่และเริ่มงานก่อสร้างโยธาให้ได้มาตรฐานเร็วกว่ากำหนด เพื่อให้โครงการรถไฟไทย-จีน ใช้เส้นทางดอนเมือง-บางซื่อ ตามแผนในเดือน ก.ค.2569