สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ 2565
เงินบาทอ่อนค่าลง ขณะที่หุ้นไทยหลุดแนว 1,700 จุดอีกครั้ง
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
- เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 32.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงสวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางสัญญาณตึงเครียดของสถานการณ์ยูเครน หลังรัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางการทหารกับยูเครน ขณะที่ชาติตะวันตกทยอยประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อรัสเซีย นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าได้บางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ตามสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยงและภาพรวมของสกุลเงินในเอเชีย
- ในวันศุกร์ (25 ก.พ.) เงินบาทปิดตลาดที่ 32.50 เทียบกับระดับ 32.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (18 ก.พ.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (28 ก.พ.-4 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.20-32.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ระหว่างยูเครน-รัสเซีย รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนม.ค. ของธปท. ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูล PMI และ ISM ภาคการผลิตและภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เดือนก.พ. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนม.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูล PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.พ. ของจีน อังกฤษ และยุโรปด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย
- หุ้นไทยหลุดแนว 1,700 จุด แม้จะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,679.90 จุด ลดลง 1.94 % จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 100,003.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.61% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ร่วงลง 2.41% มาปิดที่ 634.72 จุด
- หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์โควิดในประเทศ หลัง สธ.ยกระดับเตือนภัยโควิดเป็นระดับ 4 หุ้นไทยร่วงลงเพิ่มเติมในระหว่างสัปดาห์สอดคล้องกับแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครน เนื่องจากรัสเซียเปิดการโจมตียูเครนด้วยกำลังทางการทหาร อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังตอบรับปัจจัยลบไปพอควรแล้ว
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (28 ก.พ.- 4 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,670 และ 1,655 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,700 และ 1,720 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ การประชุมของกลุ่มโอเปกพลัส (2 มี.ค.) รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูล PMI ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงาน เดือนก.พ. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ข้อมูล PMI เดือนก.พ. ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน อัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน ตลอดจนการประชุมสภาประชาชนประจำปีของจีน