"ปิดทองหลังพระฯ" เดินหน้าแผนงานระยะฯ 4 ชูพระราชดำริสร้างรายได้ชุมชน
"ปิดทองหลังพระฯ" ชูมิติใหม่ ใช้พระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า ยกระดับการทำงานอีกขั้น บูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้เข้มแข็ง ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคชนบท
นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริกล่าวว่าการดำเนินงานของปิดทองหลังพระฯ ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ ทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ต้นแบบ 9 จังหวัด สามารถก้าวจากขั้นอยู่รอดและพอเพียงแล้ว
ดังนั้น การทำงานของปิดทองหลังพระฯ ในแผนปฏิบัติการระยะที่ 4 (พ.ศ. 2566 - 2570) จึงมีเป้าหมายหลัก คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับกลุ่มและกองทุนที่ชุมชนร่วมกันจัดตั้งและบริหารจัดการเอง ให้สามารถเชื่อมโยงกับภายนอกได้ ตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า รวมทั้งจะมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวต่อไปว่า การทำงานของปิดทองหลังพระฯ ในระยะต่อไป จึงจะเป็นการสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรของโครงการในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อขยายผลต่อยอดในเชิงธุรกิจในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ผู้ประกอบการเกษตรชีวภาพ เกษตรหมุนเวียนและเกษตรสีเขียว หรือ BCG Model
โดยปิดทองหลังพระฯ จะปรับบทบาทของตัวเองจากการเป็นหน่วยงานพัฒนาหลัก เป็นการเชิงรุกแสวงหาความร่วมมือและบูรณาการทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมและสถาบันการศึกษามากขึ้น ตลอดจนเป็นผู้ให้บริการทางวิชาการความรู้ การฝึกอบรม และที่ปรึกษาด้านการพัฒนา
"ปิดทองหลังพระฯ จะแสวงหาความร่วมมือทั้งด้านการทำงาน องค์ความรู้และแหล่งเงินทุนจากทุกภาคส่วนที่ต้องการเห็นภาคเกษตรและชนบทมีความเข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งแนวทางการทำงานใหม่นี้ ได้เริ่มดำเนินการแล้วในปี 2565 นี้”
นายกฤษฎา กล่าวถึงรูปแบบของการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้งบประมาณมากเกินกำลังเกษตรกร เช่น พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน ปิดทองหลังพระฯ เสริมศักยภาพเชิงบริหารจัดการ เช่น ปรับปรุง เสริมศักยภาพกลุ่มผู้ใช้น้ำ ติดตามสนับสนุนความรู้ต่อเนื่อง ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย และเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ
เช่น การเพาะปลูกที่แม่นยำ ความรู้ที่ทันสมัย การวางแผนการปลูกให้ตรงตามความต้องการของตลาด ขณะที่เกษตรกรต้องช่วยตนเองด้วยการยกระดับเป็นผู้ประกอบการ มีการสร้างตราสินค้า และพัฒนามาตรฐานการผลิตให้มีปริมาณ คุณภาพ และความต่อเนื่อง เป็นต้น
สำหรับผลการดำเนินงานของปิดทองหลังพระฯ ในปี 2564 ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ สรุปว่าการดำเนินงานในพื้นที่ต้นแบบ 7 พื้นที่ 9 จังหวัด สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ต้นแบบให้กับประชาชน 5,278 ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้ รวม 109,911,556 บาท
ทำให้ครัวเรือนทั้งหมด มีรายได้ผ่านเส้นความยากจนระดับประเทศที่ 102,763 บาทต่อครัวเรือนต่อปี พื้นที่ป่าในจังหวัดอุทัยธานี ได้รับการอนุรักษ์ดูแลรักษา รวม 6,598 ไร่ มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการทำเกษตรแบบแม่นยำ ทำให้มีผลผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สามารถผ่านมาตรฐานการทดสอบสารพิษ โรงคัดและบรรจุผักผลไม้ จังหวัดขอนแก่นได้มาตรฐาน GMP และมาตรฐานสาธารณสุข สบ.๑ การเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ จังหวัดขอนแก่น ได้มาตรฐาน GFM และการเสริมสร้างความเข้มแข็งโดยชุมชนบริหารจัดการกันเอง ทำให้ 19 หมู่บ้านในพื้นที่ต้นแบบจังหวัดน่านและอุดรธานี มีแผนพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนที่มีคุณภาพพร้อมต่อการส่งมอบพื้นที่เข้าสู่แผนปกติ มีกลุ่มการผลิตและกองทุนได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน 22 กลุ่ม จาก44 กลุ่ม
“การพัฒนาของปิดทองหลังพระฯ ที่น้อมนำแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ใน 13 ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า การพัฒนาตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติและประชาชนได้อย่างแท้จริง”