เปิดวิสัยทัศน์ใหม่ OR ภารกิจสู่ “โกบอล แบรนด์”
“โออาร์” เปิดวิสัยทัศน์ใหม่ “เติมเต็มโอกาสเพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” เดินหน้าผนึกพันธมิตรหวังเกิด Inclusive Growth Platform สู่การเติบโตร่วมกันทั้งระบบนิเวศ พร้อมทุ่มงบ 10 ปี กว่า 2 แสนล้านบาท ตั้งเป้าหมายในปี 2030 จะมี EBITDA มากกว่า 40,000 ล้านบาท
ภายหลังกลุ่ม ปตท.ได้ปรับวิสัยทัศน์ใหม่เมื่อปี 2564 ได้กำหนดธุรกิจใหม่ 6 กลุ่ม โดยในกลุ่มธุรกิจ Mobility & Lifestyle กำหนดให้บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เป็นหัวหอกหลัก เพื่อพัฒนาธุรกิจใหม่ร่วมกับพันธมิตร ซึ่งช่วงที่ผ่านมา OR ร่วมมือกับพันธมิตรหลายราย LINE MAN โอ้กะจู๋ ฯลฯ
ล่าสุด OR ได้ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ “Empowering All Toward Inclusive Growth" หรือ "เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจถึงปี 2030 ภายใต้งบลงทุน 200,000 ล้านบาท
นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR เปิดเผยว่า วิสัยทัศน์ใหม่ของ OR ได้กำหนดภารกิจใหม่ที่จะเป็นการเชื่อมต่อทุกคนภายใน 1 แอป หรือ Link together with All in 1 App ครอบคลุม 4 ประเด็น คือ
1.Seamless Mobility จะมีการติดตั้งติดตั้ง DC Fast Charger 7,000 จุด รวมทั้งจะทำให้ FIT Auto ทั้ง 100% พร้อมให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และติดตั้งโซลาร์รูฟในสถานประกอบการ 5,400 แห่ง
ภารกิจดังกล่าวจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจพลังงานแบบผสมผสานเพื่อการเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้ EV ที่เพิ่มขึ้น โดยสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น จะเป็นมากกว่าสถานีบริการน้ำมัน เป็นจุดเติมเต็มให้รถและคน รวมทั้ง EV จะเป็นโอกาสในการจะสร้างธุรกิจใหม่ตอบโจทย์การใช้พลังงานแบบผสมผสานให้ผู้ใช้รถน้ำมันกับรถ EV กว่า 2,000 สถานี
ทั้งนี้ ปัจจุบันได้ติดตั้งสถานีชาร์จ EV แล้วกว่า 100 แห่ง และเป็นแบบชาร์จเร็ว ปีนี้จะเพิ่มเป็น 450 แห่ง เพื่อครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งเส้นทางการเดินทางหลักแหล่งท่องเที่ยวหรือในแหล่งย่านธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จะใช้รถ EV ผ่านแอพพลิเคชั่น ช่วยนำทางหาตำแหน่งของจุดชาร์จพร้อมชำระเงินผ่านแอพทันที
"วันนี้ภาครัฐมีมาตรการเรื่องภาษีและเงินอุดหนุนทำให้ราคาถูกลง ส่วนค่ายรถได้พัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ทำให้รถได้ไกลตั้งแต่ 500-1000 กิโลเมตร รวมทั้ง OR มี FIT Auto ตอบโจทย์ผู้ใช้รถอีวีในอนาคตอย่าง โดยสถานีบริการน้ำมันจะเชื่อมโยงไปดิจิทัลแพลตฟอร์มตอบโจทย์ของผู้บริโภคในทุกไลฟ์สไตล์ เรามีสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันจำนวนมากใน 1 สาขาพบว่ารายได้ 70% มาจากนอนออยล์”
2.Global Market โดยจะขยายธุรกิจไป 100 ประเทศ ด้วยการใช้ Asset-Light Model รวมทั้งพาแบรนด์ไทยอย่างน้อย 10 แบรนด์ สู่ระดับโลก
ภารกิจดังกล่าวจะขยายฐานธุรกิจเพื่อสร้างความสำเร็จและการยอมรับในตลาดโลก (Global Market) จากการเรียนรู้ คือการดำเนินธุรกิจจะไม่สำเร็จในการทำธุรกิจสูตรใดสูตรเดียว ในการขยายไปต่างประเทศ OR จะเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิต Lifestyle ของผู้บริโภคจึงปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องความต้องการ เช่น คาเฟ่อ เมซอน ออกแบบร้านให้เข้ากับอัตลักษณ์ของพื้นที่ พยายามปรับให้ขับเข้ากับวิถีชีวิต
ส่วนพาร์ทเนอร์ที่พร้อมจะลงทุนและขยายธุรกิจร่วมกันและมองหาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเสริมในแพลตฟอร์มของประเทศที่มีอยู่รวมถึงออกขยายไปต่างประเทศตั้งเป้า 20 ประเทศในอีกไม่ช้า จากปัจจุบันมีราว 10 ประเทศ อาทิ ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์
“การไปร่วมทุนกับต่างประเทศ OR จะดูสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อาทิ การเติบโต จำนวนประชากร รวมถึงรายได้ต่อหัวอยู่เท่าไหร่และวิถีชีวิตสังคม เป็นต้น เพราะการค้าปัจจุบันดิจิทัลมีส่วนสำคัญมากถ้าเป็นเมื่อก่อนการเติบโตแต่ละประเทศอาจต้องใช้เวลา 30-40 ปี เพื่อวางสินค้า แต่ปัจจุบันด้วยสเกลของดิจิทัลทำให้ร่นระยะเวลาลงได้”
3.All Lifestyles มีเป้าหมายเพิ่มทราฟฟิกเป็นวันละ 14 ล้านคน รวมทั้งสร้างแบรนด์ในพอร์ตให้เป็น Top of Mind ผู้บริโภคตลอด 24 ชั่วโมง
ภารกิจนี้จะสร้างทางเลือกสำหรับการดำเนินชีวิตครบวงจรเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์ต่างกัน และ OR จะเน้นจับมือพันธมิตรเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น รวมทั้งสร้างการเติบโตร่วมกับสังคมชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพาร์ทเนอร์ไม่ว่าขนาดเล็กขนาดกลางหรือใหญ่เมื่อจับมือกับ OR จะเกิดพลังร่วมมีความแข็งแกร่งทั้ง Physical platform และ Digital platform
ความร่วมมือดังกล่าวมีโมเดลที่ประสบความสำเร็จร่วมกัน เช่น คาเฟ่ อเมซอน หรือแบรนด์โอ้กะจู๋ ซึ่งมีแนวทางดำเนินธุรกิจสอดคล้อง ซึ่งขณะนี้มีผลิตภัณฑ์โอ้กะจู๋มาวางจำหน่าย 20 สาขา พร้อมเปิดร้านนั่งรับประทานในปั๊มน้ำมัน 1 แห่ง คาดว่าปีนี้จะเพิ่มเป็น 4 แห่ง ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารสุขภาพ
นอกจากนี้ คาเฟ่ อเมซอนเติบโตมาครบ 20 ปี ยอดขายปี 2564 อยู่ที่ 316 ล้านแก้ว คนไทยบริโภคกาแฟ 1.5 กิโลกรัมต่อปี ขณะที่เวียดนามและญี่ปุ่นบริโภค 3 กิโลกรัมต่อปี ดังนั้นจะเติบโตได้อีก โดย OR จะต่อยอดรายได้ผลิตภัณฑ์โฮมยูส พร้อมลงทุนธุรกิจสุขภาพและท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมโยงสถานีบริการน้ำมันที่จะเห็นการจับมือพาสเนอร์มากขึ้น ส่วนธุรกิจโรงแรมยังอยู่ในความสนใจ
“ตอนนี้เรามีคุยหลายพาร์ทเนอร์เพื่อเติมเต็มความต้องการทุกประเภท จะเปิดตัวเร็วๆ นี้ และ 3-5 ปี จะเห็นธุรกิจไลฟ์สไตล์เติบโตก้าวกระโดดเพราะพลังร่วมปีนี้คาเฟ่ อเมซอนจะมีถึง 4,000 แห่ง รวมถึงร้านต่างๆ จะทำให้เติบโต โมเดลการขยายธุรกิจแฟรนไชส์จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตเร็ว คนไทยจะรู้สึกว่า OR คือ อีโค่ซิสเต็มที่อยู่ในชีวิตประจำเป็น One Stop solution All lifestyle”
4.OR Innovation ต้นแบบขององค์กรในศตวรรษที่ 21 ที่คำนึงถึงผู้คนและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับสู่นวัตกรรมในแบบฉบับของ OR (OR Innovation) ช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าการเทคโนโลยีดิสรัปชั่น แตกไลน์อุตสาหกรรม หลายคนมองว่า ธุรกิจน้ำมันกำลังจะถูกแทนด้วยพลังงานชนิดใหม่หรือไม่
แต่ OR จะใช้นวัตกรรมมาประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นโอกาสทองของคนที่จะคิดแก้ Pain Point ที่สะสมในตลาดทั้ง Pain Point เรื่องของผู้คนและสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งสองมิตินี้ไม่ได้หมายถึงมิติแค่ปากท้องหรือที่เรียกว่าด้านสังคมสังเคราะห์ เช่นความไม่สะดวกกายสะดวกใจในการดำเนินชีวิต หรือการดำเนินชีวิตให้สะดวกและสนุกขึ้น
“การแสวงหาพันธมิตรลงทุนสตาร์ทอัพจะต้องมีเจตจำนง ความเชื่อ และความมุ่งมั่น สร้างสังคมให้น่าอยู่ทำให้สิ่งแวดล้อมมีความอุดมสมบูรณ์ พันธมิตรจะต้องมีศักยภาพพอตัวในการดำเนินธุรกิจแต่ยังขาดความพร้อมบางโอกาส OR จึงตั้งกองทุน Venture Capital จำนวน 2 กองทุนกว่า 20 ราย เพื่อทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่น่าอยู่ที่ไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
นอกจากนี้ OR ได้กำหนดเป้าหมายในปี 2030 หรือ OR 2030 Goals ใน 3 ด้าน คือ
1.Living Community ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ครอบคลุมทั้งพื้นที่ธุรกิจและชุมชนรอบพื้นที่ธุรกิจมากกว่า 15,000 ชุมชน หรือมากกว่า 12 ล้านชีวิต
2.Economic Prosperity โดยสร้างการเติบโตอาชีพและกระจายความมั่งคั่ง สู่คู่ค้า ผู้ถือหุ้น ผู้ประกอบการขนาดย่อม พนักงาน ชุมชน มากกว่า1 ล้านราย รวมทั้ง OR มุ่งสู่การเติบโตทางธุรกิจ สร้าง EBITDA มากกว่า 40,000 ล้านบาท
3.Healthy Environment มากกว่า 1/3 เมื่อเทียบปี 2018 โดยจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030 และ มุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050
รวมทั้งจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมตลาดทั้งการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในสถานประกอบการ และลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจทั้งหมด
นางสาวจิราพร กล่าวว่าเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิอากาศ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีในการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งให้ความสำคัญต่อสุขอนามัยและความปลอดภัย การใช้พลังงานสะอาด และปัญหาสังคมอย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำ
ทั้งนี้ ความสำเร็จของ OR เมื่อวันที่ 11ก.พ.2564 คนไทยมีโอกาสเป็นเจ้าของหุ้น OR ที่ตั้งใจให้คนไทยมีโอกาสมาเป็นเจ้าของหุ้นและเติบโตพร้อมกันมีการไอพีโอถึง 5.3 แสนรายการ โดย OR ดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้บริการ อาทิ สถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น, คาเฟ่ อเมซอน, น้ำมันหล่อลื่น และก๊าซแอลพีจี เป็นต้น ที่ OR เป็นทั้งผู้สร้างและพัฒนาคุณภาพบริการมาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม เมื่อการลงทุนถึงจุดคุ้มค่าลงทุน OR ได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้เอสเอ็มอีทั้งไทยและต่างประเทศได้เป็นเจ้าของสัดส่วนลงทุน 80% เพื่อให้เอสเอ็มอีเติบโตสูงถึง 1.3 หมื่นราย ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1.4 แสนอัตรา ผ่านสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่นกว่า 2,000 สาขา คาเฟ่ อเมซอนกว่า 3.5 พันสาขา ยอดเข้าใช้บริการ 2.5 ล้านรายต่อวัน สมาชิก Blue Card กว่า 7.5 ล้านราย รวมถึงบีทูบีที่สนับสนุนร่วมมือและเติบโตกว่า 2.6 พันราย ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม
“ปีที่ผ่านมาเอามา OR เข้าซื้อหุ้นและลงทุนในธุรกิจหลากหลาย โดยคำนึงถึงว่าจะทำยังไง ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นถือเป็นสิ่งสำคัญของการที่อาจจะก้าวต่อไปโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และจะทำให้ผู้คนธุรกิจและคำนึงถึงสังคมสิ่งแวดล้อมชุมชนเข้ามามีโอกาสในการร่วมเติบโตไปกับเรา”
ทั้งนี้ การเติบโตรูปแบบใหม่ของ OR จะเป็นการเติบโตแบบ Outside-In หรือการเติบโตโดยการเข้าไปร่วมมือกับธุรกิจที่สร้างจากพันธมิตรภายนอก สนับสนุนกันและกันผ่านการใช้ Asset ของ OR ที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ ทางดิจิทัล ตลอดจนความสามารถในการขยายธุรกิจให้เติบโต เช่น การบริหารงานแบบมืออาชีพ ความเชี่ยวชาญด้านการตลาด การขยายฐานลูกค้า และการต่อยอดความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์ของ OR
อย่างไรก็ตาม OR ต้องการสร้างจุดยืนที่ชัดเจนในการเป็น Inclusive Growth Platform เพื่อรองรับการเติบโตร่วมกับพันธมิตร ซึ่งจะเป็นธุรกิจใดก็ตามที่ OR สามารถเข้าไปสนับสนุนได้แล้วก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดกลาง หรือธุรกิจที่ต้องการการสนับสนุน
โดย OR ได้พัฒนาโมเดล OR Inclusive Partnership ซึ่งประกอบด้วยการนำความต้องการของลูกค้าของพันธมิตรเป็นที่ตั้ง แสวงหาสิ่งที่พันธมิตรต้องการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า และเข้าไปเติมเต็มได้ด้วยศักยภาพที่ OR มีอยู่ ตลอดจนพัฒนาระบบการปฏิบัติงานที่ยืดหยุ่นให้สามารถรองรับการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน