ผ่าแผน ปตท.รุก "อีวี" ครบวงจร แพลตฟอร์ม "ผลิต-เช่า-ชาร์จ-ซ่อม"
กลุ่ม ปตท.เดินเครื่องธุรกิจ “อีวี” ครบวงจร จับมือ “ฟ็อกซ์คอนน์” ตั้งโรงงานผลิต ดัน “อีวีมี” บริการเช่ารถ ร่วมมือผู้ผลิตรถจีนทำตลาดสร้างการรับรู้ “จีพีเอสซี” ลุยโรงงานแบตเตอรี่ เป้ากำลังผลิต 100 MWh “โออาร์” ขยายปั๊มชาร์จ เปิดศูนย์ซ่อมอีวี หนุน“ไทย”สังคมคาร์บอนต่ำ
การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียานยนต์จากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานไฟฟ้า เป็นแรงผลักดันให้กลุ่ม ปตท.ก้าวเข้าสู่ New S-Curve เพื่อรักษาระดับการเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงาน โดยกำหนดวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในเทรนด์ของโลก คือ Go Green และ Go Electric
“EV Value Chain” จึงเป็นแนวคิดหลักในการก้าวเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีเป้าหมายดำเนินการแบบครบวงจร โดยช่วงที่ผ่านมาบริษัทลูกของกลุ่ม ปตท.หลายบริษัททยอยนำร่องก้าวเข้าสู่แผนดังกล่าว และก้าวที่สำคัญอยู่ที่การตั้งบริษัท อรุณ พลัส จำกัด เมื่อเดือน ก.ค.2564 เป็นบริษัทย่อยที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 100%
บริษัท อรุณ พลัส จำกัด จะทำหน้าที่ประสานการลงทุนร่วมกับบริษัทในกลุ่ม ปตท.ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และยังทำหน้าที่ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อดึงมาร่วมผลักดันธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โดยร่วมมือกับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Foxconn) เพื่อพัฒนาโมเดลรถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์และชิ้นส่วนต่าง เพื่อซัพพอร์ตให้ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ หรือผู้ประกอบการรายอื่นที่สนใจพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า โดยนำชิ้นส่วนรถยนต์หรือมอเตอร์ที่โรงงานผลิตไปประกอบรถยนต์ที่ออกแบบไว้แบบไม่ต้องลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์
ทั้งนี้ โรงงานที่ทำการผลิตเครื่องยนต์ไฟฟ้าลักษณะนี้จะมีเพียง 2 แห่งในโลกที่ Foxconn ผลักดัน คือ ไทยและสหรัฐ โดยอรุณ พลัส และ Foxconn ตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด เพื่อตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าด้วยงบลงทุนระยะแรก 1,000 ล้านดอลลาร์ บนพื้นที่ 350ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ ตั้งเป้าผลิตขายและออกสู่ตลาดปี 2567 จำนวน 50,000 คันต่อปี ขยายกำลังการผลิตถึง 150,000 คันต่อปี ภายในปี 2573 เพื่อสอดรับความต้องการในประเทศและอาเซียนที่จะสูงขึ้น
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เป็นธุรกิจใหม่ที่ในโลกยังไม่มีใครทำครบวงจร ซึ่งอรุณ พลัส จะออกแบบฐานรถอีวี จัดเรียงแบตเตอรี่และระบบคอนโทรลรถให้ลูกค้าและค่ายรถยนต์ ลูกค้าสามารถดีไซน์โครงรถ บอดี้ตัวรถก่อนผลิตออกจำหน่าย ซึ่ง ปตท.จะผลิตชิ้นส่วนจะป้อนให้ผู้ผลิตได้ทุกราย
รถจีนหนุนแพลตฟอร์ม“อีวีมี”
นอกจากนี้ อรุณ พลัส ร่วมมือกับบริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ Neta (นาจา) และเป็นสตาร์ทอัพของจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายโอกาสธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทโฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด ได้ระดมทุนซีรีส์ D ปิดดีลที่ 500 ล้านดอลลาร์ และมีความร่วมมือกับ Huawei เพื่อใช้เทคโนโลยีสำหรับโมเดลรถบางรุ่น เช่นเครือข่ายอัจฉริยะ การประมวลผลในรถยนต์ การขับขี่อัจฉริยะ พลังงานดิจิทัล และบริการคลาวด์
สำหรับแนวทางการทำธุรกิจร่วมกับบริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด จะดำเนินการผ่าน EVme แพลตฟอร์มดิจิทัลของอรุณพลัส สำหรับการให้บริการเช่ารถ EV โดยจะเพิ่มการจำหน่ายอีวีพวงมาลัยขวารุ่นแรกในโมเดล Neta V ของแบรนด์ Neta รวมถึงบริการหลังการขายด้วย
แพลตฟอร์ม EVme จะเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เดียวของไทย ซึ่งเริ่มให้ดาวน์โหลดเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2564 เพื่อให้ผู้สนใจขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้บริการเช่ารถจากแบรนด์ชั้นนำที่มีให้เลือกหลากหลายรุ่นกว่า 200 คัน ซึ่งผู้ใช้งานกำหนดรุ่นและเวลาเช่าได้เองตั้งแต่ระยะสั้นราย 3 วัน จนถึงระยะราวเป็นรายปี มีจ่ายค่าบริการเป็นราคาเดียว
รวมทั้งผู้ใช้บริการจะได้รับการดูแลครบวงจรจากทีมงานมืออาชีพครอบคลุม การรับ-ส่งรถถึงหน้าบ้าน พ.ร.บ.ประกันภัยชั้น 1 ค่าซ่อมบำรุง Call Center 24 ชัวโมง ความช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนน รถยก และรถชาร์จแบตเตอรี่ที่พร้อมให้บริการทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนให้บริการค้นหาข้อมูลตำแหน่งสถานีชาร์จจากทุกแบรนด์ทั่วประเทศไทยผ่านแอปพลิเคชั่น EVme
“จีพีเอสซี”ลงทุนแบต“อีวี”
ในขณะทีบริษัทอรุณ พลัส จำกัด ยังได้ร่วมมือกับบริษัทในกลุ่ม ปตท.เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โดยเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 ร่วมมือกับ บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ตั้งบริษัทนูออโว พลัส จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 4,200 ล้านบาท และมีทุนชำระเริ่มแรก 1,050 ล้านบาท โดย GPSC ถือหุ้น 49% และบริษัทอรุณ พลัส จำกัด ถือหุ้น 51% เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
รวมทั้งการลงทุนธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยการร่วมทุนดังกล่าวจะเป็นการรวมจุดแข็ง ความเชี่ยวชาญและความแข็งแกร่งทางการเงิน ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจแบตเตอรี่ และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า เพราะ GPSC แบตเตอรี่ทั้งที่เป็นนวัตกรรมของ GPSC และร่วมทุนกับบริษัทอื่น
ที่ผ่านมา GPSC เปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell แบตเตอรี่ชนิดกึ่งแข็งแบบ LFP สูตร SemiSolid แห่งแรกในอาเซียน ตั้งอยู่ที่ จ.ระยอง โดยใช้เทคโนโลยี 24M จากสหรัฐ ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2564 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของกลุ่ม ปตท.ในการเข้าสู่ธุรกิจแบตเตอรี่ และการเปิดโรงงานครั้งนี้มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเป็นประธาน
โรงงานดังกล่าวสามารถขยายกำลังการผลิตของโรงงานนี้เพิ่มเป็น 100 MWh ต่อปี และจะพิจารณาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ขนาด Giga-scale ซึ่งจะต่อยอดให้ GPSC เป็นผู้นำทางด้านการให้บริการด้านแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน
“โออาร์”ลุยสถานีชาร์จ
ในด้านความพร้อมของสถานีอัดประจุไฟฟ้า บริษัทอรุณพลัส จำกัด จะร่วมกับบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ในการจะขยายการติดตั้งจุดชาร์จ เช่น ตามบ้านตามคอนโดที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร เพื่อให้ครอบคลุมผู้ใช้งานมากขึ้น รวมทั้งผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบสถานีและคิวชาร์จผ่านแอปพลิเคชั่น EV Station PluZ
OR ได้เตรียมความพร้อมในการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้ามา 3 ปี แล้ว โดยกำหนดเป้าหมายการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในสถานบริการน้ำมันปี 2565 ที่ 300 สาขา ซึ่งเน้นใช้พื้นที่กรุงเทพฯ เป็นจุดศูนย์กลาง ใช้เวลาชาร์จไฟ 20 นาที ในรูปแบบชาร์จเร็ว พร้อมร่วมกับพาร์ทเนอร์ติดตั้งสถานีชาร์จทั้งในปั๊มน้ำมันที่ปัจจุบันมีกว่า 2,000 สถานี
รุกศูนย์ซ่อมยานยนต์ไฟฟ้า
รวมทั้งเพื่อรองรับผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคตมีแผนเพิ่มช่องทางบริการหลังการขาย โดย OR จะใช้ศูนย์บริการ ฟิต ออโต้ (FIT Auto) ที่มีอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน เพื่อเพิ่มช่องทางเป็นศูนย์ตรวจเช็คสภาพและซ่อมรถอีวีให้กับลูกค้า ซึ่งถือเป็นการสร้างอีโคซิสเต็มเชื่อมโยงครบวงจร
นอกจากนี้ OR เปิดบริการ Swap & Go ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่าย Battery Swapping หรือการสลับแบตเตอรี่แก่ผู้ใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้ใช้งาน โดยนำร่องในกลุ่มธุรกิจบริการรับ-ส่งอาหารหรือสิ่งของ (Delivery Service) ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถมาสลับแบตเตอรี่ แบบไม่ต้องรอชาร์จ ถือต้นแบบนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Swap & Go เชื่อมต่อกับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่รองรับการใช้งาน เพื่อตรวจสอบปริมาณแบตเตอรี่ ค้นหาตำแหน่งสถานีสลับแบตเตอรี่ จองแบตเตอรี่ใหม่ล่วงหน้า และมีระบบนำทางไปยังสถานี เมื่อไปถึงสถานีแล้ว สามารถสแกน QR code เพื่อสลับแบตเดิมที่หมดกับแบตใหม่ที่พร้อมใช้งานในตู้ชาร์จด้วยตัวเองได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
หนุน“ไทย”สังคมคาร์บอนต่ำ
นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินของกลุ่ม ปตท.ในการพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันประเทศเพื่อประชาชนในอนาคต ดังนั้น การปรับธุรกิจเดิมสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าจะขับเคลื่อนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยการใช้พลังงานสะอาด
ทั้งนี้ เพื่อสร้างรายได้และผลกำไรให้กับกลุ่ม ปตท.จึงได้นำธุรกิจหลายองค์ประกอบมารวมกัน และทำธุรกิจในหลายสิ่งที่กลุ่ม ปตท.ทำอยู่ปัจจุบัน ให้มาเสริมและเดินไปจุดมุ่งหมายเดียวกัน โดยบริษัทอรุณ พลัส จำกัด จะเป็นตัวกลางประสานตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำแบบครบวงจร
นอกจากนี้ ยังมีบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จะผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อนำมาผลิตวัสดุ อุปกรณ์และชิ้นส่วนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ในปัจจุบัน