“วัตถุดิบอาหารสัตว์”แพง ดันดัชนีราคาสินค้าเกษตรพุ่ง
สถานการณ์โลกที่มีปลายกระบอกปืนจ่อคอคอยกดดันทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจให้อยู่ในภาวะคับขัน ภาคการเกษตรที่แม้ด้านหนึ่งจะเป็นอุปสรรคใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ แต่อีกด้านก็พบว่าภาคการเกษตรกำลังได้รับอานิสงค์จากความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้
ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือน ม.ค. 2565 อยู่ที่ระดับ 151.18 เพิ่มขึ้น 4.97% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน เพื่อการส่งออก ทั้งในรูปแบบมันสำปะหลังดิบ และนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตหรือนำไปใช้ต่อในหลายอุตสาหกรรมสำคัญ
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการมีการแข่งขันด้านราคา ขณะที่ปริมาณผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดน้อย
ขณะเดียวกันหากเทียบกับช่วง ธ.ค. 2564 หรือ mom ก็จะพบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ยังเพิ่มขึ้น 7.19 % โดยไก่เนื้อ มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ จากที่ประชาชนหันมาบริโภคทดแทนเนื้อสัตว์ชนิดอื่นที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนม.ค. 2565 อยู่ที่ระดับ 155.46 เพิ่มขึ้น3.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากสินค้าเกษตรสำคัญบางชนิดมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ หอมแดง และกุ้งขาวแวนนาไม ขณะที่สินค้าเกษตรสำคัญบางชนิดมีผลผลิตลดลง ได้แก่ สุกร มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง 6.02% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2564 โดยสินค้าเกษตรสำคัญบางชนิดที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และยางพารา ขณะที่สินค้าเกษตรสำคัญบางชนิดมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไข่ไก่ และสับปะรด
“จากค่าดัชนีต่างๆได้ส่งผลไปถึงดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนม.ค. 2565 อยู่ที่ระดับ 235.03 เพิ่มขึ้น 8.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา” "
รายงานจาก สศก. แจ้งว่า ราคาข้าวโพดที่เกษตรกรขายได้ความชื้นไม่เกิน 14.5% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เฉลี่ยกิโลกรัมละ(กก.) 9 บาท สูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.56%
ทั้งนี้ เนื้อที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี ที่ผ่านมาจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ จึงเป็นแรงจูงใจให้เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด โดยจะเริ่มปลูกรุ่น 1 ในเดือน เม.ย.- มิ.ย. และ รุ่น 2 ในเดือน มิ.ย.- ก.ค.
มันสำปะหลัง ผลผลิตมันสำปะหลัง เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนต.ค. 2564 – ก.ย. 2565 คาดว่ามีพื้นที่เก็บเกี่ยว 9.664 ล้านไร่ ผลผลิต 32.730 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3.387 ตัน เมื่อเทียบกับปี โดย พื้นที่เก็บเกี่ยว ลดลง 1.35ในเดือน ก.พ. 2565 คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาด 7.36 ล้านตัน หรือ 22.49% ของผลผลิตทั้งหมด
ทั้งนี้ผลผลิตมันสำปะหลังปี 2565 จะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนม.ค.- มี.ค. 2565 ปริมาณ 20.30 ล้านตัน หรือ 62.02% ของผลผลิตทั้งหมด ซึ่งราคาหัวมันสำปะหลังสด สัปดาห์ที่ผ่านมา เฉลี่ยกก.ละ 2.28 บาท ลดลง 0.44 % ลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน
ไก่เนื้อ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค แนวโน้มสัปดาห์หน้าคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือสูงขึ้นเล็กน้อย
จากสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นแม้จะเป็นผลดีในภาพรวมแต่อาจมีผลกระทบด้านอื่นซึ่งนำต้องการบริหารจัดการมาใช้ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุด