คิกออฟแก้ผัง “อีอีซี” ชลบุรี เพิ่มเขตส่งเสริม “โรจนะ-เอเชียคลีน”

คิกออฟแก้ผัง “อีอีซี” ชลบุรี เพิ่มเขตส่งเสริม “โรจนะ-เอเชียคลีน”

สกพอ. เปิดรับฟังความเห็นประชาชน แก้ผังอีอีซี 4 พื้นที่ เป็นเขตส่งเสริมกิจการพิเศษรูปแบบนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง และขยายพื้นที่กิจการพิเศษอีก 1 แห่ง รองรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมเป้าหมาย และการพัฒนาเมืองควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ได้มีการประกาศแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562 โดย "แผนผังอีอีซี" มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค.2562

สำหรับการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินดำเนินการร่วมกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ กรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อรองรับการพัฒนาใน 20 ปี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 

โดยมีการแบ่งโซนการพัฒนาอย่างเป็นสัดส่วน วางแผงผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่จะช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนและผู้มาใช้ประโยชน์ ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงการป้องกันอุบัติภัยในพื้นที่ 
 

สกพอ.และกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการขอเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแปลงแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ครอบคลุมการแก้ไขในพื้นที่ 4 บริเวณ ของจ.ชลบุรี ประกอบด้วย 

บริเวณที่ 1 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย คลีน พื้นที่ 1,294.43 ไร่ เป็นพื้นที่เพื่อรองรับรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ โดยจะเสนอปรับพื้นที่ในเขตบางส่วนจากพื้นที่เขตสีม่วงอ่อนมีจุดสีขาวสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่เขตสีม่วงสำหรับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม

บริเวณที่ 2 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ พื้นที่ 1,987.61 ไร่ เป็นพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง โดยจะปรับพื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตจากพื้นที่เขตสีม่วงอ่อนมีจุดสีขาวสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่เขตสีม่วงสำหรับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม

บริเวณที่ 3 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง พื้นที่ 949.36 ไร่ เป็นพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ โดยจะปรับพื้นที่ในเขตทั้งหมดจากพื้นที่เขตสีม่วงอ่อนมีจุดสีขาวสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่เขตสีม่วงสำหรับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม

บริเวณที่ 4 ขยายศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) อีก 18 ไร่ รวมพื้นที่ 585 ไร่ เป็นพื้นที่เพื่อส่งเสริมการแพทย์และสุขภาพครบวงจร โดยจะเพิ่มพื้นที่สีน้ำตาลประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ

ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านพื้นที่และชุมชน สกพอ. กล่าวว่า การดำเนินงานของ สกพอ.ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทั้งยังเกินเป้าหมายของเงินลงทุนในระยะแรก สกพอ. จึงตั้งเป้าเงินลงทุนในระยะต่อไปไว้ที่ 2.2 ล้านล้านบาท โดยกิจการที่อีอีซีต้องการส่งเสริมมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเทคโนโลยี

คิกออฟแก้ผัง “อีอีซี” ชลบุรี เพิ่มเขตส่งเสริม “โรจนะ-เอเชียคลีน” ทั้งนี้ เพื่อการเตรียมความพร้อมด้านพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเพิ่มขึ้น ในวันที่ 15 ต.ค.2564 ได้มีการประกาศจัดตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 7 แห่ง แบ่งเป็นเพื่อกิจการอุตสาหกรรมรูปแบบนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่งเพื่อกิจการพิเศษ 1 แห่ง และเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมการแพทย์ 1 แห่ง ทำให้แผนผังอีอีซีในปัจจุบัน มีพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรมรวม 35 แห่ง และเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษรวม 7 แห่ง

“การขอจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อีอีซีจะขับเคลื่อนโดยหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก อย่างไรก็ตามภาคเอกชนที่เป็นนิติบุคคลและเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมสามารถขอจัดตั้งในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้เช่นกัน โดยจะต้องดำเนินการเกี่ยวข้องกับการวิจัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและพัฒนาเพื่อรองรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์บนที่ดินเดิมแล้วยื่นเสนอต่อ สกพอ.เพื่อพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอน”

วิชัญญา บำรุงชล นักผังเมืองชำนาญการพิเศษ กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า การปรับปรุงแผนผังการใช้ประโยชน์ จากสีม่วงอ่อนจุดขาวเป็นสีม่วงเข้ม ให้กลายเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม เป็นการปลดล็อกข้อห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม การอยู่อาศัย เกษตรกรรม การวิจัยและพัฒนา และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยได้สิทธิพิเศษเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของผังสีม่วงอยู่บนเขตของพื้นที่อุตสาหกรรมเดิมโดยไม่ได้มีการเพิ่มขอบเขตของที่ดินแต่อย่างใด

โดยขั้นตอนการดำเนินการปรับเปลี่ยนแก้ไขแผนผังอีอีซี มีระยะเวลาการดำเนินการราว 20 สัปดาห์ ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1.สกพอ. ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดทำรายละเอียดการแก้ไขแผนผังอีอีซี 2.ประชุมรับฟังความเห็นประชาชน 

3.เสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดทำแผนผังอีอีซี 4.เสนอต่อคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาอีอีซี (กบอ.) 5.เสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) 6.เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 7.ประกาศราชกิจจานุเบกษา