ไทยดึงญี่ปุ่นดัน “อีวี” พัฒนาศูนย์ทดสอบแบต
สถาบันยานยนต์ (TAI) หารือ สถาบันเทคโนโลยีการประเมินแห่งชาติญี่ปุ่น (NITE) พัฒนาศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ยกระดับให้เป็นศูนย์บริการทดสอบมาตรฐานและความปลอดภัยแบตเตอรี่อย่างเต็มรูปแบบและครบวงจรที่สุดในอาเซียน
หลังจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) สำนักงานกรุงเทพฯ และสถาบันยานยนต์ (TAI) ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent : LOI) เรื่อง “การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่” เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2565 ในระหว่างที่ "ฮากิอุดะ โคอิจิ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) เยือนไทย
ความร่วมมือดังกล่าวจะกระชับความร่วมมือให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะสาขายานยนต์สมัยใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุมหารือมาแล้ว 3 ครั้ง เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อร่วมมือพัฒนาและสร้างการรับรู้ยานยนต์สมัยใหม่ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยและญี่ปุ่น ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายยานยนต์ของทั้ง 2 ประเทศ และความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างสองประเทศในสาขายานยนต์สมัยใหม่
รวมทั้งได้จัดเวิร์กชอปหลายครั้งเพื่อแนะนำความเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติ และการริเริ่มของประเทศญี่ปุ่นเกี่ยวกับเทคโนโลยีและโนว์ฮาวด้านยานยนต์สมัยใหม่ตามความต้องการของฝ่ายไทย โดยริเริ่มดำเนินกิจกรรมภายใต้ LOI ฉบับใหม่นี้ จึงได้หารือล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ก.พ.2565
วรวุฒิ ก่อวงศ์พานิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายทดสอบและวิศวกรรม สถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำให้ยานยนต์มีความน่าเชื่อถือด้วยมาตรฐานและการทดสอบ และเป็นหน่วยบริการทดสอบมาตรฐานยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ให้เป็นไปตามที่กำหนด
ทั้งนี้ มีสถาบันยานยนต์เป็นผู้ดำเนินการ โดยได้รับสนับสนุนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และ บริษัท ทูฟ ซูด จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญ การทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นของโลก มีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศไทยให้เป็นแนวหน้าของอาเซียนอย่างยั่งยืน
ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ลงทุนเบื้องต้น 300 ล้านบาท บนพื้นที่ 3,000 ตร.ม.ในศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา โดยศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นผู้ดำเนินการ บนพื้นที่ 1,234 ไร่
สำหรับศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า จะเริ่มเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเดือน มี.ค.2565 โดยจะบริการทดสอบแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมทั้งสมรรถนะและความปลอดภัย
สำหรับการทดสอบแบตเตอรี่มีความอันตราย ศูนย์ทดสอบแห่งนี้จึงออกแบบห้องปฏิบัติการที่ทนทานต่อการระเบิดของแบตเตอรี่และปกป้องตัวอาคาร ใช้สำหรับการทดสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่ตามมาตรฐาน UNECE R100 สำหรับยานยนต์ และ UNECE R136 สำหรับรถจักรยานยนต์ เพื่อการวิจัยและพัฒนาในการปรับปรุงสมรรถนะของแบตเตอรี่ ในระดับ Cell, Module และ System โดยมีแผนขยายขอบข่ายให้บริการต่อไปในอนาคต
ส่วนการให้บริการทดสอบแบตเตอรี่รวม 9 รายการทดสอบ ตามมาตรฐานสากล UNECE R100 ได้แก่
1.ชุดทดสอบความแข็งแกร่งของโครงสร้างชุดแบตเตอรี่ (Mechanical integrity Test)
2.ชุดทดสอบการลัดวงจร (External short circuit protection) 3.ชุดทดสอบระบบป้องกันการชาร์จเกิน (Overcharge protection)
4.ชุดทดสอบระบบดิสชาร์จเกิน (Over-discharge protection) 5.ชุดทดสอบการป้องกันอุณหภูมิเกิน (Over-temperature protection Test)
6.ชุดทดสอบการกระแทก (Mechanical shock) 7.ชุดทดสอบการสั่นสะเทือน (Vibration) 8.ชุดทดสอบการทนอุณหภูมิ (Thermal shock) 9.ชุดทดสอบการทนไฟ (Fire resistance)
ทั้งนี้ สถาบันยานยนต์ต้องการเรียนรู้และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานญี่ปุ่น 5 ด้าน เพื่อพัฒนาการบริการทดสอบอีกหลายมิติ เพื่อให้บรรลุตามวัตประสงค์ของการก่อตั้งศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ดังนี้
1.เรียนรู้เรื่องความปลอดภัยในการจัดการแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าในระหว่างการทดสอบ 2.การวิจัยและพัฒนาในการปรับปรุงสมรรถนะของแบตเตอรี่ ในระดับ Cell, Module และSystem 3.วิธีการทดสอบตามมาตรฐานสากล UNECE R100 และ UNECE R136
4.การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบแบตเตอรี่เพื่อนำไปพัฒนาต่อ 5.การจัดการแบตเตอรี่ภายหลังการทดสอบ อาทิ การทำลาย หรือการนำกลับมาใช้ใหม่
ทาเคทานิ อัทสึชิ ประธาน เจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า หลังจากที่ได้ลงนามร่วมกับ “พิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล” ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ มาเป็นเวลา 1 เดือน ได้จัดการประชุมหารือเพื่อความร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือนโยบายยานยนต์และยานยนต์สมัยใหม่ของไทยและญี่ปุ่นอย่างตรงไปตรงมา
รวมทั้งจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์ของทั้งไทยและญี่ปุ่นในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีความร่วมมือเพื่อสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือเพื่อมุ่งมั่นดำเนินนโยบายยานยนต์สมัยใหม่และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
“เจโทร กรุงเทพฯ ยังคงร่วมมือกับสถาบันยานยนต์ต่อไปเพื่อกระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและญี่ปุ่น และมุ่งมั่นมีส่วนร่วมพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ”
งานสัมมนา “Fast Track to the Net Zero” วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 เวลา 13.00 – 17.30 น. ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนภายในวันที่ 4 มีนาคม 2565 ได้ที่ www.bangkokbiznews.com/seminar/netzero3 เพื่อรับลิงก์ชมการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-338-3000 กด 1