สิทธิประโยชน์ 7เขตส่งเสริมพิเศษ  “แรงดึงดูดใหม่”สู่การลงทุนในอีอีซี

สิทธิประโยชน์ 7เขตส่งเสริมพิเศษ  “แรงดึงดูดใหม่”สู่การลงทุนในอีอีซี

ครม.เคาะ สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในกิจการพิเศษ รวม 7 แห่ง ให้สิทธิอีอีซีเจรจาดึงนักลงทุนเป้าหมาย ตั้งทีมดึงดูดการลงทุนสู้ประเทศคู่แข่งให้สิทธิประโยชน์เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมได้นำร่องพื้นที่มืองการบินภาคตะวันออกและสนามบินอู่ตะเภา

การส่งเสริมการลงทุนเป็นอีกเครื่องมือที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจจากความบอบช้ำโควิด-19 และการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศให้เป็นไปตามที่กำหนด ล่าสุดคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมาได้เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ พ.ศ..ซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ รวม 7 แห่งในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกได้แก่

1. เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa)

2.นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

3.อุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)

4.พื้นที่บริเวณรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน  

5.ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา)

6.การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน)

และ 7.ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นสูงบ้านฉาง จ.ระยอง ที่เป็นพื้นที่นำร่องเทคโนโลยี 5G ในอีอีซี

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)เปิดเผยว่า จะเริ่มดำเนินการได้ตามมติครม.ได้หลังร่างประกาศฯนี้ลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่ง สกพอ. จะนำร่องในพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งถือว่าทำได้ยากที่สุด เพื่อให้เป็นแซนด์บ็อกซ์หรือโครงการตัวอย่างนำร่องด้านสิทธิประโยชน์ ก่อนขยายไปดำเนินการในพื้นที่อื่นต่อไป

โดยรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนใน 7 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ จะไม่สูงหรือมากเกินไปกว่าที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอให้ได้ แต่มีความจะแตกต่างจากที่ ตรงที่ สกพอ.สามารถให้สิทธิประโยชน์ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหรือหลายบริษัทพร้อมกันได้ ขณะที่บีโอไอจะให้เป็นรายบริษัท

สิทธิประโยชน์ 7เขตส่งเสริมพิเศษ  “แรงดึงดูดใหม่”สู่การลงทุนในอีอีซี

อย่างไรก็ตาม สกพอ.มีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 ประเภท หรือ 5 S-curve ใหม่ ได้แก่ หุ่นยนต์ โลจิสติกส์ การแพทย์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียวหรือ บีซีจี และอุตสหากรรมดิจิทัล ที่มาลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น โดยนักลงทุนที่จะได้สิทธิประโยชน์ต้องแสดงให้เห็นว่าการเข้ามาลงทุนจะสามารถทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมนั้นในระดับภูมิภาคได้ เช่น การทำให้โครงการสนามบินอู่ตะเภาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออกและเป็นศูนย์กลางการบินและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน

คณิศ กล่าวอีกว่า  ในช่วง 5 ปีจากนี้ประเทศไทยต้องการเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งบีโอไอสามารถดึงการลงทุนในแง่เม็ดเงินได้ตามเป้าหมาย แต่ปัญหาคือไทยยังไม่สามารถดึงการลงทุนของอุตสาหกรรมที่เป็น 5 S-curve ใหม่เข้ามาได้ จึงต้องปรับรูปแบบการดึงดูดการลงทุนให้มีความคล่องตัวและมุ่งหวังผลได้มากขึ้น

 “ที่ผ่านมาเราเสีย 2 อุตสาหกรรมใหญ่ให้กับประเทศคู่แข่งที่รู้ว่าไทยให้สิทธิประโยชน์เท่าใด ก็ไปเสนอให้สิทธิประโยชน์สูงกว่า ได้แก่ ไบโอ พลาสติก ที่ไปลงทุนในมาเลเซีย และการแพทย์สมัยใหม่ ที่ไปลงทุนในสิงคโปร์ แต่ต่อจากนี้ไป ในการเจรจากับรายใหญ่ สกพอ.จะให้สิทธิประโยชน์ที่สู้กับประเทศคู่แข่งได้ โดยทันทีที่ร่างประกาศมีผลบังคับใช้ ก็จะเริ่มไปเจรจากับนักลงทุนในเมืองการบินภาคตะวันออก ว่าต้องการสิทธิประโยชน์ใดบ้าง จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ สกพอ.ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้พิจารณาและเสนอ ครม.ตามขั้นตอน” 

สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ พ.ศ.. มีสาระสำคัญคือ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ของผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ ตามที่กำหนดไว้ในร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ประกอบไปด้วย

1.กำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ รวม 7 แห่ง ตามที่ กพอ.ให้ความเห็นชอบ

 2.กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ ต้องเป็นผู้มีศักยภาพทางการเงินและมีขีดความสามารถในการประกอบกิจการไม่ต่ำกว่าที่ สกพอ. ประกาศกำหนดและต้องประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษและกิจการที่เกี่ยวเนื่อง หรือเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง

3.กำหนดสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ

เช่น (1)สิทธิในการซื้อกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุด โดยให้เป็นไปตามที่ระบุในความตกลง

(2) สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร โดยให้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร หรือผู้ชำนาญการ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ประกอบกิจการจะนำเข้ามาในราชอาณาจักร ได้รับอนุญาตให้เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ทั้งนี้ ให้รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของบุคคลดังกล่าวด้วย

4.สิทธิได้รับอนุญาตทำงานในราชอาณาจักร โดยให้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร หรือผู้ชำนาญการมีสิทธิ์ทำงานโดยไม่ต้องได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว เป็นต้น

ด้านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลังได้ความเห็นว่า ในการเจรจาและให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนกับเอกชนอีอีซีและหน่วยงานที่่เกี่ยวข้องควรใช้รูปแบบขององค์คณะในการพิจารณากำหนดสิทธิประโยชน์ และการเจรจากับผู้ประกอบกิจการ เพื่อให้การกำหนดสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันในผู้ประกอบกิจการแต่ละรายมีความเหมาะสม