คนไทยทำใจ รับมือของแพง ทั้งน้ำมัน หมู ข้าวแกง พาเหรดปรับราคาขึ้น
สงครามรัสเซีย –ยูเคน กดดันราคาพลังงานดีดตัวสูงแตะระดับ 100 กว่าดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลต่อต้นทุนราคาวัตถุดิบ ผู้ผลิตอั้นไม่อยู่ พาเหรดปรับราคาสินค้ายกแผง ประชาชนอ่วม รับสภาพ”ของแพง” ขณะที่เงินเฟ้อเดือนก.พ.พุ่ง 5.28 % ทำราคาสินค้าสูง 260 รายการ
สถานการณ์ราคาสินค้าในปัจจุบันเริ่มทยอยปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไม่หยุด ล่าสุดน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว และยังมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา จากผลพวงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ประกอบกับราคาวัตถุดิบ และอาหารสัตว์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการผู้ประกอบการ ทยอยขึ้นราคาสินค้า ปรับลดขนาด-ปริมาณลง หลังเผชิญภาวะต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่ม โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคหมวดวัตถุดิบอาหารสด ทั้งหมู, ไข่ไก่, เนื้อไก่ อาหารปรุงสำเร็จ อาหารตามสั่ง ปรับราคาขึ้นตามไปด้วย
กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลราคาสินค้า ได้เรียกประชุมผู้ประกอบ ผู้ผลิตสินค้า และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เพื่อขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าไว้ และไม่อนุญาตให้ขึ้นราคา โดยมีสินค้าทั้งหมด 18 กลุ่ม ประกอบด้วยประกอบด้วย 1.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2.หมวดอาหารสด 3.อาหารกระป๋อง 4.ข้าวสารถุง 5.ซอสปรุงรส 6.น้ำมันพืช 7.น้ำอัดลม 8.นมและผลิตภัณฑ์จากนม 9.เครื่องใช้ไฟฟ้า 10.ผลิตภัณฑ์ซักล้าง 11.ปุ๋ย 12.ยาฆ่าแมลง 13.อาหารสัตว์ 14.เหล็ก 15.ปูนซีเมนต์ 16.กระดาษ 17.ยา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ 18.บริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง
อย่างไรก็ตามทางภาคเอกชนทั้งหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่างประสานเป็นเสียงเดียวว่า ผลจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ต้นทุนสินค้า และค่าขนส่ง แม้เอกชนพร้อมร่วมมือภาครัฐเพื่อรักษาระดับราคาสินค้าที่จำหน่ายในปัจจุบันให้ได้นานที่สุด แต่สุดท้าย การปรับราคาสินค้าต้องมีขึ้นแน่นอน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการและมีรายได้
ทั้งนี้ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ยื่นหนังสือขอปรับราคาสินค้าหลายรายการ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภค-บริโภค พร้อมแจงราคาวัตถุดิบทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ปรับราคาสูงขึ้น แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ยังไม่ให้มีการปรับราคา โดยนายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่มีนโยบายให้ปรับขึ้นราคาในช่วงนี้ ยกเว้นผู้ผลิต ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้จริง ก็จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป โดยมีหลัก คือ ผู้บริโภคต้องไม่เดือดร้อนจนเกินไป และผู้ผลิตต้องอยู่ได้
สำหรับเงินเฟ้อที่เป็นตัวชี้วัดค่าครองชีพคนไทย หากเงินเฟ้อสูงมากๆก็ชี้ให้เห็นว่า ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น พูดง่ายคือ ของแพง ซึ่งเป็นไปตามคาด เงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.พ. พุ่งขึ้นแตะ 5.28 % ซึ่งเป็นผลจากราคาพลังงานที่ดีดตัวสูง ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากเหตุการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซียปี 2533 ที่อิรักบุกคูเวต
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวย้ำว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นไม่ได้เกิดจากภาวะเศรษฐกิจ ค่าเงิน แต่เกิดจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากสถานการณ์วิกฤตรัสเซียและยูเครน ซึ่งหากราคาน้ำมันยังอยู่ที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก็จะทำให้เงินเฟ้อยังอยู่ระในดับที่สูงต่อไป ซึ่งต้องยอมรับว่า ของแพงจริงไม่ใช่แค่ความรู้สึก
ทั้งนี้เดือนก.พ.2565 มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 260 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง เนื้อสุกร ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป น้ำมันพืช น้ำประปา ไข่ไก่ กระดูกซี่โครงหมู สินค้าไม่เปลี่ยนแปลง 65 รายการ เช่น ค่าบริการใช้โทรศัพท์มือถือ ค่าบริการอินเทอร์เน็ต ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเบี้ยประกันภัยรถ ค่าเบี้ยประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พรบ.) ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี และราคาลดลง 105 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ส้มเขียวหวาน ขิง พริกสด ค่าธรรมเนียมการศึกษา กล้วยน้ำว้า ค่าเช่าบ้าน และค่าส่งพัสดุไปรษณีย์
“ เชื่อว่า เงินเฟ้อของไทยในปีนี้ ไม่น่าจะเกินไปกว่ากรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสามารถบริหารจัดการได้ ส่วนจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการสกัดหรือไม่ เชื่อว่า เมื่อถึงเวลา ธปท.จะดำเนินการเอง เพราะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดมาตลอดอยู่แล้ว” นายรณรงค์ แสดงความมั่นใจ
ฟันธง เลยว่า ปี 2565 สินค้าหลายอย่างจะทะยอยปรับราคาขึ้น ประเดิมด้วยราคาไข่ไก่ คละหน้าฟาร์ม ที่ฟองละ 3.20 บาท ปรับขึ้นฟองละ 30 สตางค์ หรือแผง (30 ฟอง) ละ 9 บาทแล้ว แต่หากไม่ปรับราคาก็จะใช้วิธีลดไซส์ ลดขนาด แต่ราคาเท่าเดิม ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราๆก็ต้องทำใจรับมือ”ของแพง”อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้