กรมชล พร้อมรับมือฝนตกหนักอีกระลอก 6-8 มี.ค.นี้ อีสานล่าง -กลาง-ตะวันออก

กรมชล พร้อมรับมือฝนตกหนักอีกระลอก 6-8 มี.ค.นี้ อีสานล่าง -กลาง-ตะวันออก

กรมชลประทาน สั่งทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงวันที่ 6-8 มีนาคม 2565 นี้พร้อมเล็ง ฟื้นฟูน้ำท่วมภาคใต้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 6-8 มีนาคม 2565 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้

โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ สำหรับภาคใต้จะมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ นั้น

กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบในหลายพื้นที่ รวมไปถึงจุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ มีการปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ ตลอดจนตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทาน ให้พร้อมรับน้ำหลากและป้องกันน้ำท่วมได้อย่างเต็มศักยภาพ

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลากไว้ล่วงหน้า อาทิ เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมไปถึงระบบสื่อสารสำรอง และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างทันท่วงที พร้อมกับประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)   กล่าวว่า  ในช่วงวันที่ 25-28 ก.พ.65 ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นห่วงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

ได้สั่งการให้ กอนช. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ เร่งสำรวจและฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้หยุดระบายน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา เป็นการชั่วคราวในช่วงระยะเวลาที่เร่งระบายมวลน้ำท่วมลงสู่ทะเลเพื่อลดผลกระทบน้ำท่วม ด้านกรมชลประทานได้เร่งซ่อมแซมคันกั้นประตูระบายน้ำบริเวณปากคลองระบายน้ำมูโนะ จ.นราธิวาส ที่ชำรุด จนแล้วเสร็จ สามารถควบคุมการไหลของน้ำให้ไหลผ่านประตูระบายน้ำโดยไม่ล้นคันกันน้ำออกมา รวมทั้งยังได้ระดมติดตั้งเครื่องจักรเครื่องมือตามจุดต่างๆ อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถแบ๊กโฮ เพื่อเร่งการระบายน้ำท่วมให้เร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

“ขณะนี้สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำโก-ลก ปัจจุบันระดับน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว เหลือเพียงพื้นที่ลุ่มต่ำที่ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่เพียง 1 จังหวัด คือ จ.ปัตตานี รวม 4 อำเภอ 29 ตำบล 116 หมู่บ้าน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ระดมเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่แล้ว คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายภายใน 1-2 วันนี้” เลขาธิการ สทนช.กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม ได้ประสานการปฏิบัติทั้งฝ่ายปกครองและท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน กำลังพลทหาร ตำรวจ และประชาชนจิตอาสาต่างๆ ลงพื้นที่เข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทั้ พร้อมระดมเครื่องจักรกลในพื้นที่ของทุกหน่วยงาน เร่งระบายน้ำและเปิดทางน้ำตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมอบถุงยังชีพ น้ำดื่ม และช่วยอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบอุทกภัยในเบื้องต้นอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

 

เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ภาพรวมสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้จะเริ่มคลี่คลายลงแล้วก็ตาม แต่ยังไม่น่าไว้วางใจ ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 6-8 มี.ค. 65 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น

โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกในบางพื้นที่ สำหรับพื้นที่ภาคใต้จะมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ กอนช.จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง ติดตามและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ และแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที