ZIGA เดินหน้าลุยธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์
"ซิก้า" ลุยธุรกิจขุดบิตคอยน์ คาดสัปดาห์นี้รับมอบเครื่องขุดเหมืองอีก 200 ตัว วางเป้า 3 ปี คาดสัดส่วนรายได้ธุรกิจเทคโนโลยีแทนที่ธุรกิจเหล็ก ลั่นยืนยันไม่รู้จัก “สมพงษ์ ศิลป์สมบูรณ์” เป็นการส่วนตัว และตอนที่เข้ามาซื้อหุ้นก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้ซื้อบิ๊กล็อต !
จากธุรกิจเหล็กโครงสร้างเหล็กสัดส่วนรายได้มากกว่า 90% และเป็นธุรกิจที่คลุกคลี่มาตลอด 24 ปี บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA ของ “ตระกูลงามจิตรเจริญ” ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 44.22% ทว่าปัจจุบันกำลัง “ทรานส์ฟอร์ม” มุ่งสู่ “ธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัล” ซึ่งเป็นธุรกิจเทรนด์ของโลกยุคใหม่ !!
ทว่าเพียงแค่บริษัทประกาศ “ปรับพอร์ตรายได้” (Diversify) รุกสู่ “ธุรกิจใหม่” (New Business) ความสนใจของนักลงทุนพุ่งเป้าทั้งในแง่ของการลงทุนและความเคลื่อนไหวราคาหุ้น ZIGA บ่งชี้ผ่านราคาหุ้น ZIGA ช่วงปลายปี 2564 อยู่ที่ 4.30 บาทต่อหุ้น (30 ธ.ค.2564) ก่อนที่ราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นมาทำจุด “สูงสุด” (18 ก.พ.2565) อยู่ที่ 24.60 บาทต่อหุ้น หรือราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมากว่า 472.09%
สะท้อนผ่าน ในมุมของแผน “การลงทุน” ของ ZIGA ประกาศลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยการจับมือร่วมทุนกับพันธมิตร เพื่อจัดตั้งบริษัทย่อย 2 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท เมอร์ลินตั้น อินโนเวชั่น จำกัด เพื่อการลงทุนและพัฒนาธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับ Digital Technology เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ZIGA ถือหุ้น 89.98% และ บริษัท วิสเดน กรุ๊ป จำกัด เพื่อลงทุนธุรกิจบริการทางการเงินด้วยเทคโนโลยี (FinTech) ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ZIGA ถือหุ้น 69.99%
ด้วยโมเดลลงทุนธุรกิจเทรนด์ของโลก ทำให้มีนักลงทุนรายใหญ่และรายย่อยเข้ามาลงทุนในหุ้น ZIGA หลากหลายราย สอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้รับแจ้งจากบริษัทว่า มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยมี “4 นักลงทุนรายใหญ่” เข้าถือหุ้นในบริษัทรวม 17.623%
ประกอบด้วย “สมพงษ์ ศิลป์สมบูรณ์” เข้าถือหุ้น 75.689 ล้านหุ้น คิดเป็น 12.349% “สมศักดิ์ เหล่าสุจริตกุล” ถือหุ้น 15.34 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.503% “ชูชาติ เพ็ชรอำไพ” ถือหุ้น 11 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.795% และ “ณัฐพล ทรงสายชลชัย” ถือหุ้น 6 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.979% ซึ่งบริษัทชี้แจงเพิ่มเติมว่าโครงสร้างผู้ถือหุ้นเดิมยังมีสัดส่วนถือหุ้นใหญ่ และยังคงดำเนินงานตามแผนธุรกิจเดิมไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงาน
“ศุภกิจ งามจิตรเจริญ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า บริษัทเดินหน้าตามแผนธุรกิจ โดยเร่งผลักดันการทรานส์ฟอร์มจากธุรกิจเหล็กสู่ธุรกิจเทคโนโลยี โดยวางเป้าหมาย 3 ปีข้างหน้า (2565-2567) คาดว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเทคโนโลยีจะแทนที่ธุรกิจเดิม (โครงสร้างเหล็ก) คิดเป็นธุรกิจเทคโนโลยี 90% จากปัจจุบัน 10%
ภายหลังจากบริษัทลงทุน “เครื่องขุดเหมืองบิตคอยน์” และ การต่อยอดในธุรกิจคริปโทฯ แล้ว สะท้อนผ่านเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทเริ่มเข้าสู่ธุรกิจเหมืองบิตคอยน์ด้วยทุนราว 100 ล้านบาทติดตั้งเครื่องขุดบิตคอยน์ 200 เครื่อง
และเมื่อต้นปี 2565 บริษัทเพิ่มจำนวนอีก 200 เครื่องด้วยงบลงทุนอีก 100 ล้านบาท โดยในสัปดาห์นี้จะรับมองเครื่องขุดเหมืองบิตคอยน์ ซึ่งภายใต้โครงการลงทุนเฟสแรกไม่เกิน “1,000 ล้านบาท” ซึ่งบริษัทมองว่ามีโอกาสที่จะสามารถติดตั้งเครื่องขุดคริปโทฯ ได้มากกว่า 10,000 เครื่อง แต่คงต้องขึ้นกับกรอบของวงเงินที่จะสามารถระดมทุนได้ อย่างไรก็ตามเบื้องต้นบริษัทได้ขออนุมัติผู้ถือหุ้นกำหนดกรอบวงเงินการออกหุ้นกู้ไว้แล้วกว่า 4,000 ล้านบาท
“จากที่ลงทุนเครื่องขุดเหมืองบิตคอยน์ชุดแรกเมื่อปลายปี 64 จำนวน 100 เครื่อง ตอนนี้สามารถสร้างรายได้กว่า 6 แสนบาทแล้ว และมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องในปีนี้ เพราะมีจำนวนเครื่องขุดเพิ่มขึ้น ก็น่าจะช่วยผลักดันรายได้และกำไรมากขึ้นด้วย”
สำหรับเหรียญคริปโทฯ ที่ขุดนั้นไม่ได้เป็นการขุดออกมาเพื่อจำหน่าย แต่จะนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการป้องกันความเสี่ยงของการขึ้นลงด้านราคาเหรียญ และไม่มีนโยบายในการซื้อเหรียญบิตคอยน์มาขายเก็งกำไร
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างเตรียมแผนงานเพื่อออกเหรียญดิจิทัล (Digital Token) และผลิตเกมที่จะนำเหรียญดิจิทัลไปสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมไปถึงการสร้างและออกเหรียญ NFT คาดว่าจะทยอยเห็นความชัดเจนภายในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565
ขณะที่ ในส่วนของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ DAIWA ปีนี้บริษัทออกสินค้าใหม่คือ ท่อประปา นอกจากนี้ ยังมีสินค้าสำหรับโรงเรือนกัญชา , กัญชง ปัจจุบันอยู่ในช่วงต้นของการเพาะปลูก
“การร่วมมือกับพันธมิตรในการลงทุนธุรกิจใหม่ในครั้งนี้ ถือเป็นการพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่การเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ และยังเป็นการเติมเต็มธุรกิจเหล็ก และธุรกิจโครงสร้างโรงเรือนกัญชง-กัญชา สนับสนุนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ต่อเนื่อง”
สำหรับผลประกอบการปี 2565 บริษัทตั้งเป้าเติบโตไม่ต่ำกว่า 15-30% โดยยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากธุรกิจหลักเดิม (โครงสร้างเหล็ก) ซึ่งความต้อง (ดีมานด์) การท่อร้อยสายไฟยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สอดรับจากโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ , โรงพยาบาล และโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เป็นต้น
รวมทั้งบริษัทยังได้เตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่คือท่อประปาที่คาดว่าจะเข้ามารองรับความต้องการจากลูกค้ากลุ่มเดิมที่มีมากขึ้น และธุรกิจโครงสร้างเหล็กโรงเรือนกัญชา-กัญชง โดยการขายให้กับกลุ่มลูกค้าท่อร้อยสายไฟ DAIWA ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้า niche market และได้รุกขยายเพิ่มช่องทางการขายช่องทางออนไลน์
ขณะที่ เรื่องการขายหุ้นของ “สมพงษ์ ศิลป์สมบูรณ์” คิดเป็น 9.95% ส่งผลให้เหลือหุ้นภายหลังการจำหน่าย คิดเป็น 2.38% นั้น “ศุภกิจ” ยืนยันว่าไม่รู้และไม่รู้จัก “สมพงษ์” เป็นการส่วนตัวตอนที่เข้ามาซื้อหุ้นก็ไม่ทราบเนื่องจากไม่ได้ซื้อบิ๊กล็อตดังนั้นตนเองจะไม่ทราบว่าเข้ามาเก็บหุ้นตอนไหน แต่ยอมรับว่าหลังเข้ามาถือหุ้นจำนวนมาก บริษัทมีการเชิญมาร่วมฟังแผนธุรกิจเหมือนกัน และเป็นการเจอกันครั้งแรก ส่วน “ชูชาติ” ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ตนเองก็รู้จักจากสื่อว่าเป็นเจ้าของ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC
ท้ายสุด “ศุภกิจ” บอกไว้ว่า ขอยืนยันว่าบริษัทมีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการลงทุนในธุรกิจใหม่ และคาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างการเติบโตในกับบริษัทในอนาคตด้วย