20 ซีอีโอ ผ่า “อภิมหาเทรนด์” ฝ่า “ความไม่รู้” สู้โลกใหม่ ไม่เหมือนเดิม (ตอน1)
นักการตลาดลดทอนความไม่รู้ด้วยการเกาะแนวโน้ม จับยามสามตาวิเคราะห์ตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค ก่อนเคลื่อนธุรกิจภายใต้บริบทใหม่ อีกมิติ อ่านคัมภีร์ เคล็ด(ไม่)ลับจาก ซีอีโอ องค์กรชั้นนำ เจาะเทรนด์ไหนมาแรง โอกาส อุปสรรคใดจ่อหน้าประตูเพื่อฝ่าโจทย์ที่ยากยิ่งขึ้นทุกขณะ
งานวันนักการตลาด หรือ Thailand Marketing Day ปี 2565 สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ได้จัดสัมมนาในธีม “Marketing the Unknown” ซึ่งปีนี้เป็นการหยิบยกเรื่องราวที่นักการตลาดอาจ “ยังไม่รู้” มาไขให้กระจ่างมากขึ้น โดยมีบรรดาซีอีโอ ตลอดจน นักการตลาดที่มากประสบการณ์ มาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ "เทรนด์" ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้อย่างน้อยสามารถคาดการณ์จะเกิดอะไรขึ้นบ้างที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งเชิงบวกและลบ อะไรคือ “โอกาส” และ “ความท้าทาย” ภายใต้บริบท “โลกใหม่ที่ไม่รู้จัก”
นอกจากเวทีหลักงานสัมมนา ซึ่งเต็มไปด้วยหัวข้อที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น Breakthrough the Unknown ก้าวข้ามขีดจำกัดกับการตลาดไร้แบบ Decoding the Unknow เรารู้อะไรในความไม่รู้ Infinite Opportunities in the New Reality ทวีคูณโอกาสผ่านโลกแห่งอนาคตกับ 3 Unicons ของประเทศไทย เป็นต้น ยังเนื้อพิเศษ เมื่อ “20 แม่ทัพ” ของแต่ละองค์กรมาเล่า “อภิมหาเทรนด์”(The Biggest Trend) ที่สุดของความท้าทายเพื่อเตรียมรับมือ(The Biggest Challenge) ตลอดจนมองขุมทรัพย์แห่งโอกาสที่นักการตลาดไม่ควรมองข้าม(The Biggest Opportunity)
โลกที่คาดเดาว่ายากแล้ว ปัจจุบันมาพร้อมความไม่แน่นอนด้วย แล้ววิสัยทัศน์ มุมมองของซีอีโอองค์กรชั้นนำ ผู้นำทางความคิดในส่วนแรกทั้ง 10 ท่าน มองอย่างไร กรุงเทพธุรกิจBizweek สรุปให้ ดังนี้
++แผนพัฒนายั่งยืน ผู้บริโภครักษ์สุขภาพ เขย่าโลกธุรกิจ
เทรนด์ใหญ่มีมากมายที่กำลังจะมีผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจในโลกปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภครักสุขภาพ มุ่งยกระดับสู่ความเป็นอยู่ที่ดี ความทรงพลังของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่วนระดับโลก ด้านเศรษฐกิจและการค้ากำลัง “แบ่งขั้ว” เลือกข้าง ห้ำหั่นกันของ 2 มหาอำนาจที่สะเทือนทุกประเทศ รวมถึงแผนพัฒนาธุรกิจยั่งยืน(ESG) เป็นมุมมองของ ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย
ทว่า หากต้องเลือกอภิมหาเทรนด์ เธอยกให้แนวทางการพัฒนาธุรกิจยั่งยืนจะมีบทบาทอย่างยิ่ง เหตุผลที่ชี้ไปเทรนด์ดังกล่าว เพราะภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นรุนแรงต่อเนื่องทุกปี สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบต่อทุกคน “ใกล้ตัว” มากขึ้น
ยิ่งกว่านั้น การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26)เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้บรรลุข้อตกลงเรื่องสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล และการประชุมที่จะจัดขึ้นทุกปี จาก 5 ปีครั้ง ล้วนเป็นสัญญาณให้ธุรกิจต้องปรับตัว
ทั้งนี้ ไม่ได้มีแค่สินค้าและบริการจะมุ่งรักษ์โลก ภาคการเงินได้ขานรับ “Green” เช่นกัน อย่างการออกตราสารหนี้ หรือ Green Bond
แม้ธุรกิจตื่นตัวตระหนักผลิตสินค้าและบริการลดผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม มีธรรมาภิบาลมากขึ้น แต่การขยับสู่ “ความสำเร็จ” ยากจะเกิดในวันเดียว เพราะกระบวนการเปลี่ยนผ่านการผลิต โครงสร้างราคาสินค้า วิธีการขาย ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างรับรู้สู่ตลาด ต้องกินเวลาอีกยาวนาน
เมื่อการเปลี่ยนผ่านต้องพึ่งพาทุกภาคส่วน เช่น เอกชนจะเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน รัฐควรให้ “สิทธิประโยชน์ด้านภาษี” แก่บริษัทที่ทำเรื่อง Green การให้เรทติ้งแก่บริษัทที่ได้มาตรฐาน เพื่อปูทางไปสู่การ “ขอสินเชื่อ” ต้นทุนต่ำ นำมาพัฒนาธุรกิจต่อไป
ฟากพฤติกรรมผู้บริโภค คงไม่เห็นการปรับเปลี่ยนข้ามคืนเช่นกัน ยังคงใช้สินค้าที่ “ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” จากปัจจัยการผลิตสินค้าทดแทนยังไม่สมบูรณ์ ราคายังแพง เพราะต้นทุนสูง ทำให้ Green flation ยังท้าทายภาคการผลิต อีกทั้งการ “คืนทุน” ช้า อุปสรรคมีมาก แต่อีกมิติ “สินค้ารักษ์โลก” เป็น “โอกาส” แนวโน้มโตได้อีกมาก
ในไทยเศรษฐกิจสีเขียว กลายเป็น “วาระแห่งชาติ” มีการตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าแตะ 1 ล้านล้านบาท ในปี 2570 ส่วนการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคของ PWC ยังพบว่า 67% จะซื้อสินค้าจากองค์กรที่ทำเรื่องนี้จริงจัง 66% จะซื้อสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนงานวิจัยของกสิกรไทยเองพบผู้บริโภค 75% ยินดีจ่ายแพงขึ้น 20% จากสินค้าราคาปกติ เพื่อมีส่วนช่วยรักษ์โลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อธุรกิจต้องอยู่ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ สิ่งที่นักการตลาดควรทำ คือ “ทดลอง” ทำสิ่งใหม่ที่มีนวัตกรรมภายใต้ “ความเสี่ยงที่รับได้” เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ใช้ข้อมูล(Data)มาทำตลาดทลาย The Unknown และก้าวทันทุกกระแส
องค์กรสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ที่รายได้หลักแสนล้านบาทอย่าง “เครือสหพัฒน์” มีธุรกิจมากมาย ผ่านร้อนหนาวกว่า 7 ทศวรรษ ซีอีโอเผชิญหลากวิกฤติ เมื่อมองเทรนด์ธุรกิจในอนาคต บุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) ฉายภาพว่า “ปัจจัยสี่” จะเปลี่ยน เริ่มจาก “อาหาร” ต้องตอบโจทย์สุขภาพมากขึ้น “ที่อยู่อาศัย” ต้องไม่แออัด “ยารักษาโรค” ไม่เพียงพอต่อการดูแลสุขภาพ หรือการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ไวรัสต่างๆ แต่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะมีบทบาทต่อชีวิตผู้คนมากขึ้น
ส่วนเครื่องนุ่งห่ม แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ปีนี้และปีต่อไป จะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง อีกเทรนด์สำคัญ คือการค้าขายออนไลน์ ขานรับการชอปปิงของผู้บริโภคด้วยปลายนิ้วจนไทยติดท็อป 3 ของโลก หากองค์กรธุรกิจปรับตัวทรานส์ฟอร์มสู่ช่องทางดังกล่าว การเติบโตในยุคหน้าจะเป็นแบบ “ทวีคูณ”
แต่ก่อนเติบโต ผู้ประกอบการยังต้อง “ฝ่าวิกฤติ” ให้รอดก่อน ซึ่งท้าทายมาก บุญเกียรติ จึงแนะว่าห้วงเวลานี้ “อย่าถอดใจ” คิดลบยกธงขาว
“ในวิกฤติเราต้องอยู่ให้ได้ เกิดอะไรนิดหน่อยอย่าตกใจ บอกว่าทำไม่ได้ ต้องสู้ทุกสมรภูมิ ส่วนการทำตลาดท่ามกลางความไม่รู้ หรือรู้อะไรผิดๆ จะลด The Unknown ได้ องค์กรต้องประชุม ทำงานร่วมกันมากขึ้น ต้องหาทางรู้จักลูกค้า เพื่อสื่อสารการตลาดให้มากพอ”
ซีอีโอที่เห็นพ้องเทรนด์สุขภาพมาแรง คือ รวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์โอสถ จำกัด ให้มุมมองว่าผลพวงวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ผู้บริโภคใส่ใจดูแล “สุขภาวะ” โดยรวมทั้งร่างกาย จิตใจ และวิถีการใช้ชีวิต
"โควิดทำให้ผู้บริโภคเรียนรู้มากขึ้น และจัดลำดับความสำคัญในชีวิต บางคนวิถีชีวิตเปลี่ยนหมด ธุรกิจจึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องความเปลี่ยนแปลง”
บริบทโลกใหม่ ธุรกิจจะโตต่อการหา New S-Curve สำคัญ หากยังผลิต ค้าขายสินค้าแบบเดิมอาจไม่เติบโต “กำไร” จะบางลง อีกด้านหากธุรกิจไหนสร้างเครื่องยนต์ติดเทอร์โบโตได้ จะเพิ่ม “ช่องว่าง” ขององค์กรที่เป็นผู้ตามให้ห่างยิ่งขึ้น
ส่วนการทำตลาดในโลก the Unknown รวิศ ยกการใช้ข้อมูล เปลี่ยนข้อมูลเป็น “ความรู้” เพื่อนำไปวางแผน กำหนดกดยุทธ์ให้ถูกที่ถูกเวลา ในทุกโมเมนต์เล็กๆของผู้บริโภค(Micro-Moments) ซึ่งนักการตลาดใช้มีอาวุธ “ความคิดสร้างสรรค์ 50%” และใช้เทคนิค เครื่องมือการตลาดต่างๆ 50%
“โลกเปลี่ยนเร็วมาก คนที่เห็นการเปลี่ยนแปลงแล้วอยู่ตรงนั้น จับพลังการเปลี่ยนแปลงได้ มีโอกาสที่จะชนะ และธุรกิจที่ใหญ่ในอดีต ถ้าไม่เปลี่ยนอนาคตจะลำบากมาก”
++เศรษฐกิจ กำลังซื้อถดถอย ต้นทุนสูง โอกาส “สินค้าคุ้มค่าเงิน”
รู้เทรนด์ เหมือนเห็นอนาคตบางส่วน แล้วตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีมูลค่าหลัก 7-8 แสนล้านบาท มี The Biggest Trend อะไร วรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด(มหาชน) องค์กร 130 ปี มองการอยู่ในโลก VUCA( Volatility-ความผันผวน Uncertainty-ความไม่แน่นอนสูง Complexity ความสลับซับซ้อน Ambiguity ความคลุมเครือ) ทำให้การจับเทรนด์เป็นสิ่งดีที่นักการตลาดห้ามพลาด
ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคมี 3 เทรนด์เกิด ได้แก่ 1.เซ็กเมนต์ใหม่ จากสังคมสูงวัย ชาวมิลเลเนียล และมนุษย์ทำงานยุคใหม่ เช่น เดลิเวอรี่ โดย 3 กลุ่มนี้ ไลฟ์สไตล์ต่างจากผู้บริโภคหลักเดิม 2.พฤติกรรมสะดวก มีความสุข เสพความบันเทิงภายในบ้าน เพราะมีวิกฤติโควิด ทำให้ผู้คนต้องร่วมมือปรับตัวเอง จากทำงาน ใช้ชีวิตนอกบ้านมาสู่โหมดจำศีลอยู่บ้านมากขึ้น และ3.เทรนด์สุขภาพ ซึ่งทั้งหมดคือ “ขุมทองการตลาด” อย่างมาก
ทว่า โลกธุรกิจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ โอกาสมี แต่อุปสรรคดักหน้าก็มา ยิ่งห้วงเวลานี้ “ต้นทุน” เป็นแรงกดดันสำคัญ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ พลังงานเชื้อเพลิง “พุ่ง” ไม่หยุด ภาวะ “เงินเฟ้อ” กระทบค้าขาย แล้วธุรกิจจะปรับตัว บริหารแบรนด์อย่างไร
ซ้ำร้ายกว่านั้น เมื่อ “อำนาจซื้อ” ของผู้บริโภคลดลง ระวังใช้จ่ายเพราะพิษสงโควิดทำให้ตกงาน รายได้หดหาย นักการตลาดต้องแปลงวิกฤติเป็นโอกาส นำเสนอสินค้าเซ็กเมนต์ “คุ้มค่าเงิน”
“ผู้บริโภคจะมองหาสินค้าที่ออฟเฟอร์ราคาถูกกว่า แต่ภาวะเศรษฐกิจ ต้นทุน เป็นสิ่งท้าทายผู้ประกอบการอย่างมาก”
“ความยั่งยืน” เป็นอีกเทรนด์ที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบทิศ เพราะผู้บริโภคคาดหวังจากแบรนด์ องค์กรมากขึ้นทุกปี ใน 5-10 ปีข้างหน้า การวางวิสัยทัศน์เพื่อเดินสู่เป้าหมายดังกล่าวจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ!
การแสวงหาโอกาสยังทำได้ด้วยกานำเทคโนโลยี มายกระดับธุรกิจ และที่ขาดไม่ได้คือ การใช้ข้อมูลขับเคลื่อนธุรกิจการตลาด(Data driven marketing) หาอินไซต์ที่ดีช่วยการตัดสินใจเร็ว อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจ “ทุนมนุษย์” สำคัญ เมื่อโลกเต็มไปด้วยความไม่รู้และความไม่แน่นอน การมีวิธีการคิด(Mindset)ยืดหยุ่น ปรับตัวเร็ว เรียนรู้ผิดเพื่อถูก เพราะปัจจุบันการวางแผนระยะยาวยาก หากหมากรบถูก 50-60% ที่เหลือต้องพร้อมแก้หน้างาน
“2 ปีที่ผ่านมาทุกอย่างยากหมด เราต้องบาลานซ์ธุรกิจหลักให้เดินไปข้างหน้า เพราะคือเส้นเลือดใหญ่ รายได้ กำไร ถ้า Core business เดินไม่ได้ ก็ไม่มีเงินลงทุนต่อ แต่การทดลองสร้างธุรกิจใหม่ ก็ต้องทำโดยอาศัยจุดแข็งของธุรกิจหลักต่อยอดการเติบโต"
++ร้านอาหาร ค้าปลีกในโลกท้าทาย
เม็ดเงิน 4 แสนล้านบาทเป็นขุมทรัพย์ธุรกิจร้านอาหาร แต่ไวรัสมฤตยูฉุดเงินหายไม่พอ มาตรการรัฐ “ดับฝัน” การขายข้าวปลาอาหารไม่น้อยใน 2 ปี เจอทั้งล็อกดาวน์ ปิดร้าน ห้ามให้บริการเดลิเวอรี่ ห้ามซื้อกลับบ้าน เจอสารพัด
ขณะที่เทรนด์ใหญ่ธุรกิจร้านอาหารหลังโควิด มุมมอง ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด(CRG) ยกให้ “เดลิเวอรี่” มาแรงแน่ หลากแพลตฟอร์มขับเคี่ยวแข่งกัน พร้อมเปิดพื้นที่ให้ร้านอาหารรายย่อยเสิร์ฟความอร่อยถึงกลุ่มเป้าหมาย “คลาวด์ คิทเช่น” ช่วยให้ร้านที่มีสาขาน้อย ขยายตัวเองเติบโตมากขึ้น “เพิ่มความหลากหลาย”(Diversification) การมีแบรนด์เดียวในพอร์ตโฟลิโอ มีสาขา หรือทำเลเดียว “ผู้ประกอบการเหนื่อยแน่ๆ” เพราะบทเรียนโควิดที่ล็อกดาวน์ธุรกิจ ทำให้ต้องคิดใหม่ กระจายความเสี่ยงทั้งหมวดหมู่อาหาร ทำเล รูปแบบร้านเดี่ยว(Stand alone) ไดรฟ์ทรู ฯ ช่วยบานลานซ์พอร์ต
เทรนด์เทคโยโลยี มีหลายเรื่องพลิกธุรกิจร้านอาหาร ทั้งหุ่นยนต์ เพราะปัจจุบันค่าแรงแพงขึ้น คนหายาก เพราะกลับบ้านเกิดช่วงโควิดไม่หวนคืนกรุง การจ่ายเงินด้วยดิจิทัล เมนูคิวอาร์โค้ด ลดการสัมผัส การให้ความสำคัญเรื่องความสะอาด สุขอนามัย การทำตลาดที่จะใช้ดิจิทัลเป็นช่องทางโปรโมทแบรนด์และสินค้า เป็นต้น
“แพลนท์เบส” เป็นอีกเทรนด์ห้ามมองข้าม เพราะต่างประเทศขนาดตลาดมูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนไทยแตะ 20,000 ล้านบาท ต้องเริ่มเสริมพอร์ต สินค้าพร้อมทาน(RTE : Ready to Eat)จากยักษ์ใหญ่มีโรงงานผลิต นาทีนี้ “คู่แข่ง” คือแบรนด์เล็ก เชฟดังสร้างสรรค์เมนูท้ารบขายผ่านร้านสะดวกซื้อ “อาหารเพื่อสุขภาพ” จาก Niche ผู้บริโภคเริ่มยินดีจ่ายแพงรับประทานของดี
ร้านอาหารไม่ใช่แค่แหล่งรับประทานของอร่อย ยังเป็นสถานที่มอบประสบกาณ์ “ถ่ายรูปก่อนทาน” หรือ Camera eats first อวดไลฟ์สไตล์บนโลกออนไลน์ ดังนั้นจะสร้างสรรค์เมนูต้องสวย การทำตลาดโลกเสมือนจริง(Virtual) ช่วยสร้างตัวตนโอกาสให้แบรนด์เล็กได้
“ปีนี้ธุรกิจร้านอาหารจะมีสีสันมากขึ้น เพราะผู้บริโภคจะออกมานอกบ้านใช้ไลฟ์สไตล์ต่างๆ ทว่า สิ่งท้าทายผู้ประกอบการคือต้นทุนสูงขึ้น ไม่แค่วัตถุดิบ แต่ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่รู้จะปรับขึ้นเมื่อไหร่ รวมถึงค่าขนส่งจากน้ำมันแพง จึงต้องมอนิเตอร์ให้ดี”
ขณะที่ท่ามกลางความไม่รู้ ณัฐ แนะนำไม่ให้ยึดติดความรู้ในอดีต Unlearn แล้วมาเรียนรู้มุมองใหม่(Relearn) เพื่อรับสิ่งใหม่ด้วย
“ความสำเร็จในอดีต อาจไม่สำเร็จในปัจจุบัน ต้องเปิดใจยอมรับ เรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อประกอบธุรกิจในโลกใหม่”
ดีเวลอปเปอร์ยักษ์ใหญ่เลี่ยงผลกระทบไม่พ้นจากโลกที่ผันผวน จนซีพีเอ็นต้อง Refocus” ธุรกิจครั้งสำคัญ “โควิดเป็นความท้าทายระดับโลก ยังไม่หยุดนิ่ง เราต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ เพื่อปรับกลยุทธ์ใหม่ให้ธุรกิจเดินต่อได้ วัลยา จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) เล่า
เซ็นทรัลพัฒนา คร่ำหวอดวงการค้าปลีก โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัยมานาน การย้อนมอง 40 ปี เห็นสิ่งดีๆที่ทำไว้ คือ “การพัฒนา” ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน ชุมชน สิ่งแวดล้อม จึงกลับมาโฟกัสความเป็น “เซ็นทรัลพัฒนา” ดีเอ็นเอที่แท้จริงขององค์กร เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต
ใน 5 ปีข้างหน้า การสร้างสรรค์โครงการต่างๆของบริษัทจะคำนึงถึงความยั่งยืนรอบด้าน เป็นชอปปิงเซ็นเตอร์ที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วน สร้างขนาดเศรษฐกิจราว(จีดีพี) 1% ของประเทศ มุ่งจ้างงาน 1.5 แสนตำแหน่ง มีโครงการกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ ควบคู่พันธกิจลดใช้พลังงาน 50% ใช้พลังงานสะอาด เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้ในโครงการให้ได้ 1 ล้านต้น
++Data อาวุธสู้ The Unknow
the Unknow ง่ายๆเบื้องหน้า คือไม่มีใครรู้โควิดจบเมื่อไหร่ เศรษฐกิจฟื้นตอนไหน แต่ที่เห็นแน่ๆ คือ..การเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดแล้ว และจะไม่กลับมาเป็นแบบเดิม มุมมองของ สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)
นอกจากนี้ เศรษฐกิจดิจิทัล(Digital economy)ยังมีบทบาทเคลื่อนโลก คาดการณ์ปี 2566 จะแซงเศรษฐกิจแบบเดิม(Old economy) เช่นกับการตลาดดิจิทัล ปัจจุบันทั้งโลกเทเงินไปฝั่งดังกล่าวมากขึ้น ปีหน้าแซง “Mass Media” แต่ที่เกิดขึ้นแล้วคือสหรัฐฯ ดิจิทัลชิงเม็ดเงินโฆษณาไปถึง 72% ผู้บริโภคเองก็กลายเป็น Digital consumert 70-80% แล้ว จึงเป็นปัจจัยที่นักการตลาดต้องปรับตัวลุยตลาดดิจิทัล สร้างแคมเปญ มอบประสบการณ์ใหม่ให้กลุ่มเป้าหมาย และต้องเป็นแบบครบวงจร(End-to-End)ตอบสนองเฉพาะคน(Know me) ในเวลาของแต่ละคน(My time)ในช่องทาง แพลตฟอร์มต่างๆด้วย
ทว่า การจะชนะในเกมการตลาดยุคนี้ ต้องอาศัยข้อมูลขับเคลื่อน(Data Driven Marketing) มากขึ้น แต่ความยากเกิด เพราะพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(PDPA)เป็นข้อจำกัดการเข้าถึงข้อมูล
“Customer Data Platform หรือ CDP เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำเพื่อสร้างการเติบโตธุรกิจ รวมถึงการทรานส์ฟอร์มการตลาด ซึ่งหากเคลื่อนตัวช้า จะเสียเปรียบในการแข่งขันได้”
สอดคล้องกับ วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพ็คเกจจิ้ง จำกัด(มหาชน)ที่ยกการขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล(Data driven organization)เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับการดำเนินธุรกิจในยุคนี้
ขณะที่ธุรกิจจะถูกขับเคลื่อนจาก 4 เทรนด์ ได้แก่ ผู้บริโภคตระหนักเรื่องสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี การขยับสู่ดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกในการชอปปิงสินค้าบนโลกออนไลน์ และสังคมเมือง ผู้คนอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมมากขึ้น สุดท้ายคือ “เศรษฐกิจหมุนเวียน”(Circular economy)เพราะผู้บริโภคจะตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ภายในองค์กรยังต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ 1.ความยืดหยุ่ดทั้งด้านกลยุทธ์และขอบเขตการทำธุรกิจ 2.ความคล่องแคล่ว ว่องไวของพนักงานในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง
กรณีศึกษาของฟิล์มยี่ห้อดัง ยังใช้ได้เสมอ ปี 1975 บริษัทผลิตกล้องดิจิทัลได้ แต่ไม่ยอมทำตลาดเพราะกังวลจะกลืนกินธุรกิจหลัก สุดท้ายปี 2012 บริษทต้องประสบหายนะใหญ่คือการ “ล้มละลาย” บทเรียนดังกล่าวยังสะท้อนไม่ให้ธุรกิจ ติดกับดักความสำเร็จในอดีต” ด้วย
ขณะเดียวกันการสร้างการเติบโตในสมรภูมิธุรกิจยุคนี้ การรู้จักสมรรถนะหลักขององค์กรเพื่อต่อยอดขยายขอบเขตธุรกิจจำเป็นมากขึ้น อย่างเอสซีจีพี จัดทัพรุกสู่การผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยใช้ศักยภาพจากการขึ้นรูปพลาสติกหลากหลายแบบ ช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆให้บริษัท
“ไม่รู้ก็คือไม่รู้ แต่ที่เรารู้คือ อนาคตไม่เหมือนทุกวันนี้ จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น พัฒนาให้สะดวกสบายมากขึ้น การทำธุรกิจทีมงานจึงต้องมี Growth mindset ที่สำคัญต้องตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย ยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นแรงผลักดันสู่ความสำเร็จ”
เป็นแม่ทัพที่ไม่เสียเวลากับสิ่งที่ไม่รู้จนเกินไป แต่ทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อสิ่งที่รู้ต่อยอดธุรกิจดีกว่า โดย สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) มองเทรนด์ที่รู้ว่ามาแน่ๆ คือ ธุรกิจสีเขียว รักษ์โลก บิ๊กดาต้า สินทรัพย์ดิจิทัล โลกเสมือนจริง(Metaverse) ผู้บริโภครักสุขภาพ สังคมสูงอายุ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องโดดเกาะกระแสเหล่านี้ให้ได้
เมื่อบริบทโลกค้าขาย พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็วและแรง องค์กรต้องพร้อมรบ ตั้งแต่จัดโครงสร้างให้ชัด มีอิสระขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อไม่ให้องค์กรใหญ่เผชิญ “สปีดที่ช้าลง” สร้างความคล่องตัว ทีมงานมีดีเอ็นเอสนุก ยืดหยุ่นสูง พร้อมปรับตัว เรียนรู้ และกล้าลองทำสิ่งใหม่
“the Unknown ทำให้เราต้องปรับตัว ไม่สามารถใช้วิธีการตลาดที่เคยสำเร็จในอดีตช่วง 2-3 ปีได้แล้วแต่การอยู่ใกล้ชิดกับผู้บริโภค หรือ Customer centric ใกล้ชิดตลาด จะช่วยให้เราอยู่ในใจกลุ่มเป้าหมายได้”
ปัทมวรรณ สถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มายด์แชร์ ประเทศไทย ย้ำภาพ 2 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอยู่ในภาวะซบเซา แบรนด์สินค้าและบริการเบรกใช้เงินอย่างมาก แต่ปี 2565 จะเห็นการฟื้นตัวขึ้น
โลกที่ไม่รู้ การทำตลาดต้องคำนึงถึงทุกเส้นทางการซื้อของลูกค้า(Customer journey) ออกอาวุธทุก Full funnel ตั้งแต่สร้างการรับรู้แบรนด์ไปจนถึง “ปิดการขาย” (Conversion) บนแพลตฟอร์มที่แตกต่างกันด้วย และเงินทุกบาทที่ใช้ต้องให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าการลงทุน(ROI)
“เมื่อการตลาดดิจิทัล คู่แข่งไม่มาก ตอนนี้ทุกแบรนด์ทำกันหมด นอกจากนี้ การตลาดยังมีนวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้น ทั้งเมตาเวิร์ส สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเรื่องที่ต้องจับตาและท้าทายอย่างมาก เพราะนักการตลาดควรลองทำตลาดในโลกทั้งสองใบ ออฟไลน์และออนไลน์ ควบคู่ดูคุ้มค่าการลงทุนแค่ไหน”