วิกฤติรัสเซีย - ยูเครน “ต้นทุนเศรษฐกิจ” ที่เราต้องจ่าย

วิกฤติรัสเซีย - ยูเครน “ต้นทุนเศรษฐกิจ” ที่เราต้องจ่าย

เงินเฟ้อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา สูงขึ้น 5.28% เท่ากับว่ามูลค่าเงินในกระเป๋าหายไปแล้ว 5.28 บาท ในทุกๆ 100 บาท นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือหลักการเศรษฐกิจยากเย็นอะไร เพราะความไม่สงบรัสเซีย-ยูเครน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาพลังงานเพิ่มขึ้นเรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับคนไทย

ปี 2563 รัสเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก และอันดับ 5 ของยุโรป เป็นคู่ค้าอันดับที่ 29 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union: EAEU)

ปี 2564 รัสเซีย มีปริมาณน้ำมันดิบสำรอง เป็นอันดับ 8 ของโลก

ปี 2561 วลาดิมีร์ ปูติน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 4 (2561-2567)

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของตัวป่วนกวนโลกอย่างรัสเซีย กำลังจะบอกว่า ทำไม คนไทยต้องสนใจวิกฤติที่ไกลเป็นพันๆ กิโลเมตรครั้งนี้  

เพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ บวกกับความกังวลท่ามกลางปัจจัยการเจรจาไม่มีความคืบหน้า ขณะที่มาตรการค่ำบาตรจากนานาชาติทวีความรุนแรงขึ้น “คิดดีไม่ได้” ว่าโลกยังไม่พ้นเขตความปั่นป่วน และไม่รู้ว่า จะยืดเยื้อ และลุกลามไปมากน้อยแค่ไหน

เงื่อนไขสถานการณ์ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบ ณ 4 มี.ค. 2565 อยู่ที่ 116.73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 6.54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากเพิ่มขึ้นเกือบทุกวันมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาความขัดแย้งค่อยทวีความรุนแรงขึ้น 

สอดคล้องกับ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนก.พ. 2565 เท่ากับ 104.10 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 5.28%  (YoY) สาเหตุหลักยังคงมาจากสินค้าในกลุ่มพลังงาน รวมถึงสินค้าในหมวดอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต และราคาวัตถุดิบ

อธิบายให้ง่ายขึ้นด้วยข้อมูลค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเดือนก.พ. โดย สนค.สรุปมาให้ว่า ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 17,503 บาทในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงสุดอยู่ที่ ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ รวม 4,135 บาท อธิบายเพิ่มอีกนิด “ทำไม รบกันที่โน่น คนไทยที่นี่ต้องเดือดร้อน” เพราะ ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564 สูงขึ้น 29.22%โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก

ราคาน้ำมัน และพลังงานต่างๆ เป็นสาเหตุทั้งทางตรง และทางอ้อมที่ทำให้กระเป๋าเงินคนไทยเกิดรูรั่วคือ จ่ายมากขึ้นแต่ได้ของเท่าเดิม ชีวิตความเป็นอยู่ก็ไม่ได้ดีขึ้น เหล่านี้คือ ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่คนไทยต้องจ่ายไปกับวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ครั้งนี้ 

สิ่งที่รัฐบาลไทยทำคือ นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมด่วนรองนายกรัฐมนตรีทุกด้านเพื่อติดตามสถานการณ์และได้สั่งเตรียมความพร้อมด้านปริมาณสำรองพลังงานไว้ รวมทั้งได้เตรียมมาตรการในการบรรเทาให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด พร้อมขอให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์วิกฤตินี้ และร่วมกันใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด

เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดีจากโควิด-19 ,หนี้สาธารณะ 9,644,000 ล้านล้านบาท,หนี้ครัวเรือนที่ยังพุ่งสูง ปัจจัยที่เป็นแรงกดดันให้คนไทยเผชิญความยากลำบากแบบที่ต้องดิ้นรนสุดชีวิตให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ เพราะต้นทุนเศรษฐกิจที่เราต้องจ่ายดูเหมือนจะมีแต่เพิ่มขึ้นๆ 

สิ่งสำคัญจากนี้คือ รัฐบาลต้องดูแลให้คนไทยสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ดูแลตัวเองแบบไม่ต้องมีแรงกดทับภายในมาซ้ำเติม ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนพลังงานที่ควรจัดการอย่างเหมาะสม การดูแลราคาสินค้าไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น 

อย่ามัวแต่โทษปัจจัยอื่นจนลืมประสิทธิภาพการบริหารจัดการของตัวเอง เพราะ “ผู้นำและผู้บริหาร”มีไว้เพื่อจัดการในยามวิกฤติเช่นนี้ ถ้าทำไม่ได้ก็ขอให้พิจารณาตัวเองซะ. 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์